ต้องสู้ไม่ถอย อีกกี่วิกฤติก็ผ่านได้ กางสูตรทำร้านหมูทอด เจ๊จง ในยุคไวรัส

28 พ.ค. 2563
แม้สถานการณ์จะส่งสัญญาณคลี่คลายลงบางแล้ว ภายหลังมีการผ่อนปรนมาตรการในส่วนของร้านอาหาร แต่ทว่าก็ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้กับเจ้าของกิจการร้านอาหารอยู่ ‘เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง’ ผู้ก่อตั้งร้านหมูทอดเจ๊จงคือหนึ่งในห่วงโซ่ของวิกฤติครั้งนี้ ตั้งแต่ที่ไวรัสเริ่มแพร่ระบาดช่วงต้นปี มาจนถึงตลอดฤดูร้อนที่มีการประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ร้านหมูทอดเจ๊จงยังคงหยัดยืนเปิดกิจการตามปกติทั้ง 12 สาขา โดยปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัด เจ๊จงปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์ รวมถึงเรียนรู้และมองหาโอกาส จนกลายเป็นช่องทางใหม่ๆ อย่าง เปิดท้ายขายข้าว ที่สร้างรายได้ให้กับคนว่างงาน และพยุงโรงงานหมูทอดของตัวเองด้วย เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวของเจ๊จง ผู้เป็น icon ของคนสู้ไม่ถอย และครั้งนี้ เจ้จง ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตลอดช่วงเวลากว่าสามเดือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารได้เป็นแรงบันดาลใจต่อไป 
ปรับตัวเร็ว เปลี่ยนวิธีการขายไว ทำกำไรได้งาม ร้านหมูทอดเจ๊จงยังคงเปิดขายตามปกติในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 แถมยังคงขายดี มีลูกค้ามาเลือกหาของอร่อยๆ รับประทานอยู่ไม่ขาด จนสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นบาทต่อวัน ซึ่งเจ๊จงบอกว่ามาจากการปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ และเปลี่ยนการขายใหม่ โดยสรุปวิธีการดังนี้ 
1.  ปรับหน้าร้าน บางส่วนมีการปรับเปลี่ยนก่อนหน้านั้นแล้วในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละลอง PM2.5 อย่างเช่นการทำตู้สำหรับใส่อาหาร และหลังจากมีการมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distance) ก็ได้มีการปรับหน้าใหม่ตามมาตรการของรัฐ เช่น การปิดโซนภายในร้านไม่ให้คนภายนอกเข้า มีการทำเส้นแบ่งระยะห่างของการเข้าแถวอย่างชัดเจน จัดทำบัตรคิวเพื่อไม่ให้ลูกค้ามายืนรวมกันและยังทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย 2 ปรับเมนู ยกเลิกเมนูข้าวแกง ขายเฉพาะหมูทอดและของทอดเท่านั้น เนื่องจากเป็นเมนูที่รับประทานง่ายและสะดวก 3. ไม่ปรับลดพนักงาน ปัจจุบันเจ๊จงต้องดูแลพนักงานกว่าร้อยชีวิต ทั้ง 12 สาขาและโรงงานข้าวกล่อง ซึ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ก็ไม่ได้ปรับลดพนักงานลงแต่อย่างไร ทุกคนยังคงทำงานเช่นเดิม เพียงแต่อาจมีการปรับลดสวัสดิการลงบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ในแต่ละส่วนของร้าน เช่น แต่ละสาขาจะมีผู้จัดการบริหารร้าน ซึ่งบางสาขาที่ยอดขายลดลงก็มีการตัดเบี้ยขยัน (แต่ก็มีเพียง 2 สาขาเท่านั้น) หรือโรงงานข้าวกล่องเจ๊จง ช่วงเดือนเมษายนไม่มีค่าอาหารให้พนักงาน แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคมก็ไม่ตัดแล้ว เป็นต้น หลังจากที่มีมาตรการผ่อนปรนให้ร้านเปิดนั่งรับประทานได้ที่ร้าน หมูทอดเจ๊จงเปิดบริการโดยให้นั่งได้แล้ว 5 สาขา ได้แก่ ราษฎร์บูรณะ, บางบัวทอง, วัชรพล, สมุทรปราการ และ เทพารักษ์ กม.8 ส่วนสาขาต่างๆ คือ พระราม 4 (หลังโลตัส), กรมศุล, พัฒพงษ์, ตึกซัน (วิภาวดี), FYI Center, สามย่านมิตรทาวน์ และ การไฟฟ้า สำนักงานใหญ่ อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์อีกหนึ่งเดือน โดยเฉพาะสาขาพระราม 4 พื้นที่ทั้งหมดของที่นี่ถูกปรับเพื่อรองรับการผลิตข้าวกล่อง จึงเน้นเรื่องความสะอาดและปลอดภัยต้องมาก่อน 
โอกาสใหม่มีอยู่เสมอ เปิดท้ายขายข้าว  โปรเจ็กต์ที่เกิดจากปัญหา ตลอดช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภายหลังจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้หลายคนต้อง Work From Home ส่งผลให้ตามตึกอาคารออฟฟิศเงียบเหงาลง ยังกระทบต่อโรงงานข้่าวกล่องเจ๊จง เนื่องจากกลุ่มที่จำหน่ายตามออฟฟิศไม่สามารถขายได้ ทำให้ยอดลดลง 1 เดือนเต็ม จึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์ใหม่ ‘เปิดท้ายขายข้าว’ เปิดท้ายขายข้าว เป็นอีกหนึ่งการปรับตัวให้เข้ากับยุค COVID-19 และยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบด้วย เจ๊จงเพิ่มช่องทางไปยังกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัด โดยให้มารับข้าวไปขายตามหน้าหมู่บ้านทั่วกรุงเทพฯ พร้อมแนะนำเทคนิคการขายโดยเจ้จงสอนเอง เรียกได้ว่าเป็นการปรับการขายใหม่ ที่ได้ประโยชน์ถึงสองต่อ ทำให้โรงงานข้าวกล่องเจ๊จงกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ที่สำคัญยังเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่เดือดร้อนให้มีรายได้ ซึ่งสามารถขายได้ 300-400 กล่องต่อวัน โดยได้กำไรมากถึง 7 บาทต่อกล่อง และอย่างบางรายที่ไม่มีต้นทุนก็สามารถมารับของไปขายก่อนได้ด้วย 
สูตรการทำร้านอาหารให้อยู่รอดในวิกฤติ COVID-19 จากการคาดการณ์ของหลายภาคส่วน ยังคงมองว่า COVID-19 อาจจะยังไม่คลี่คลายในเร็ววันนัก ฉะนั้นการที่ร้านอาหารจะสามารถอยู่รอดต่อไปจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวเองให้เท่าทันสถานการณ์ ซึ่งเจ๊จงได้สรุปจากประสบการณ์เอาไว้ดังนี้ 
  1. ต้องอยู่แบบระมัดระวังคือปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐแนะนำ ซึ่งเจ๊จงมองว่าจะทำให้สามารถรอดจากการติดเชื้อไวรัส และกิจการก็จะอยู่รอดต่อไปได้อีกด้วย
  2.  เวลาประสบปัญหาให้ปรึกษาผู้รู้ เวลาที่เจ๊จงเกิดปัญหาจะเล่าให้กูรูที่ปรึกษาฟังอยู่เสมอ ไม่อายที่จะบอกว่าตอนนี้เกิดปัญหาที่โรงงาน ยอดลดลง เราขาดทุน จึงมักที่จะได้รับคำแนะนำในการปรับตัว เช่น โปรเจ็กต์เปิดท้ายขายข้าว ที่ช่วยกันคิดในเวลาเพียงสองวัน จนสามารถช่วยให้โรงงานดำเนินการต่อไปได้ และยังช่วยเหลือผู้เดือดร้อนให้มีรายได้อีกด้วย
  3.  ไม่โลภเจ๊จงบอกว่า ยามนี้ถ้าเราโลภ แล้วเอาตัวรอดอยู่คนเดียว สุดท้ายมันก็จะไปไม่รอด โดยเฉพาะในยามที่วิกฤติแบบนี้ไม่ควรขายค้าเอากำไรเยอะ คำนี้จะทำให้เราอยู่ในสังคมนี้ได้นาน
“สุดท้ายต้องลุกขึ้นมาสู้ จะมัวแต่นั่งท้อไม่ได้ เจ๊เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก เราต้องพยายามใช้สติ อย่างที่บอกว่าปัญหาบางอย่างต้องหาคนปรึกษา แล้ววิกฤติไม่ใช่จะมีแค่นี้หรอก หมดวิฤตินี้ก็อาจจะมีวิกฤติใหม่เข้ามา ฉะนั้นต้องมองวิกฤติให้เป็นโอกาส แล้วมองให้เป็นประสบการณ์ด้วยว่า ถ้าวันข้างหน้าเกิดอย่างนี้อีก จะได้สอนลูกสอนหลานว่าเราทำอย่างไร และพยายามมองว่าคนที่รอดเขาทำอย่างไร เพราะแบบอย่างมีอยู่เยอะแยะ”

ทำธุรกิจที่คิดถึงสังคม ปันสุขจากหมูทอดเจ๊จง
ขณะที่ร้านหมูทอดเจ๊จงเปิดดำเนินการปกติ และโรงงานข้าวกล่องก็ขับเคลื่อนต่อไปได้ ไม่เพียงเท่านั้นเจ๊จงยังได้มองไปถึงสังคมรอบข้างด้วย โดยได้ร่วมกับโครงการ Chefs for Change นำข้าวกล่องมอบให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคคลากรทางสาธารณสุข เพื่อเป็นแรงในการต่อสู้กับ COVID-19 และแบ่งปันให้กับผู้เดือดร้อนในชุมชนต่างๆ “พี่หนุ่ย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ชวนเจ๊จงลุกขึ้นมาทำข้าวเพื่อนำไปมอบให้กับคุณหมอและคุณพยาบาล วันละ 1,200 กล่อง แต่ข้อแม้คือเจ๊ต้องออกเงินเอง เจ๊ก็รับปากกว่าได้ พอทำวันแรกก็โพสต์ลงโซเชียล มีเดีย ทำให้มีคนเริ่มเข้ามาร่วมช่วยสมทบทุน ซึ่งมีคนอยากร่วมบุญกับเจ๊เยอะมากๆ” เจ๊จงแจกจ่ายวันหนึ่ง 1,200 กล่อง คิดแล้วเป็นเงินกว่า 3 หมื่นบาท โดยมีการแจกจ่ายความอิ่มอร่อยให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุข รวมทั้งชุมชนในพื้นที่คลองเตยกว่า 20 แห่ง เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ จำนวนกว่า 5 หมื่นกล่อง ซึ่งกลายเป็นจุดริเริ่มให้มีคนมาร่วมสมทบทุนรวมกว่าล้านบาท “ตอนหลังมีคนที่เป็นสะพานบุญมาร่วมออกเงินให้ ก็กลายเป็นมาซื้อข้าวกล่องเจ๊ไปแจกเยอะมาก สั่งทีนึง 100-1000 กล่อง ซึ่งมีมาทุกวัน แล้วถ้าซื้อไปแจกก็จะคิดราคาพิเศษ 30 บาท บางคนส่งเงินมา 200,000 บาท สั่งให้เอาไปแจกชุมชน ให้เขามารับเอาไปแจกกันเอง พูดง่ายๆ คือซื้อข้าวเจ๊และให้ช่วยบริหารจัดการ เราก็จะมีทีมงานไปติดต่อประธานชุมชน โดยจะแจกวันละ 1,000 กล่อง นอกจากนี้พี่หนุ่ยก็บอกว่าคนไปช่วยโรงพยาบาลเยอะแล้ว ให้เราไปช่วยคนที่ตกงานด้วย ตอนนี้ก็กำลังคิดว่าทำให้ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่ประมาณ 100 คน” “เหมือนเราเป็นเพื่อนบ้านกัน อยู่ด้วยกัน สุดท้ายเจ๊คิดว่าเราต้องอยู่ด้วยกันอย่างมีความรัก อันดับแรกเจ๊แบ่งปันไปในยามวิกฤติ เพราะเป็นห่วงและรักเขา สุดท้ายสิ่งที่ได้กลับมาคือเชื่อว่าเขาเหล่านั้นก็จะรักเจ๊ อยู่ในสังคมด้วยกันได้อย่างมีความสุข”
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
วิกฤตร้านอาหารการจัดการร้านอาหารNew Normalสร้างอาชีพบทสัมภาษณ์ และรีวิว

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด