5 ลูกเล่น “Robinhood” ดีต่อธุรกิจ ที่เจ้าของร้านอาหารต้องรู้

10 พ.ย. 2563
เปิดตัวแอปให้ใช้บริการแบบกึ่งทางการแล้วสำหรับ “Robinhood” แอปฟู้ดเดลิเวอรี่น้องใหม่ล่าสุดจากค่ายบริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด ในเครือของ SCB ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ล่าสุดทางผู้บริหารให้ข้อมูลว่า มีจำนวนร้านอาหารเข้าร่วมกับทางแอปประมาณ 1.6 หมื่นร้าน  (26 ต.ค. 2563) ซึ่งในจำนวนนี้มีกร้านเล็ก ๆ ที่ไม่มีอยู่ในแอปฟู้ดเดลิเวอรี่อื่น ๆ รวมด้วย นั่นเพราะว่า หนึ่งในจุดเด่นของ “Robinhood” ที่หลายคนฮือฮาก็คือ ไม่มีการเก็บค่า GP ทำให้เป็นโอกาสของร้านเล็ก ๆ ที่ไม่ไหวกับค่า GP สามารถเข้าร่วมได้ เรามาย้ำกันอีกสักครั้งถึงจุดเด่นที่น่าสนใจของ “Robinhood” สำหรับมุมมองผู้ประกอบการร้านอาหาร ว่ามีอะไรบ้าง
1. ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม (GP)
เป็นหนึ่งในจุดเด่นที่คนทำร้านอาหารรอคอย เพราะในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา การเก็บค่า GP ของผู้ให้บริการแอปฟู้ดเดลิเวอรี่ กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ถึงความเหมาะสมของอัตราการเก็บ แล้วจู่ ๆ ก็มีข่าวเปิดตัว “Robinhood” ประกาศตัวไม่เก็บค่า GP เพื่อต้องการให้เป็นแพลตฟอร์ม “ช่วยคนตัวเล็ก” ให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถเข้าถึงโอกาสช่องทางการขายเดลิเวอรี่ได้ ซึ่งกำลังเป็นช่องทางที่มีการเติบโตสูง
นี่จึงเป็นจุดเด่น และก็เป็นการบ้านหนักให้กับทางแอปฯ ไปพร้อมกัน ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้แข่งขันกับกลยุทธ์ฟรีค่าส่งของแอปค่ายเจ้าตลาดได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรการไม่เก็บค่า GP ก็เป็นโอกาสที่ดีของทางร้าน
2. เงินสดเข้าร้านทันทีภายใน 1 ชั่วโมง
ถ้าการไม่เก็บค่า GP ถือว่าเจ๋งแล้ว ข้อ 2 นี้ยิ่งเจ๋งกว่าเพราะเรื่องกระแสเงินสดถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อคนทำร้านอาหาร SME การที่ทางแอปประกาศไว้ในเงื่อนไขว่า หลังจากออเดอร์ส่งถึงลูกค้าภายใน 1 ชั่วโมง เงินจะเข้าบัญชีร้านทันที จุดนี้ถือว่าชนะเลิศ เพราะเรื่องของการโอน การจ่าย ถือเป็นของง่ายสำหรับระบบอย่าง SCB อยู่แล้ว เอาจุดแข็งส่วนนี้ของเครือข่ายตัวเองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ได้ใจไปเลย
แต่ไม่แน่ใจว่า ทางระบบมีเงื่อนไขอื่น ๆ สำหรับผู้ประกอบการที่เปิดร้านอาหารหลายสาขาหรือไม่ อย่างไรก็ตามเราควรศึกษาเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนใช้บริการแพลตฟอร์ม
3. มีทีมงานช่วยเหลือร้านค้าในการใช้งานแอพ 
หนึ่งปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสตลาดเดลิเวอรี่ของร้านเล็ก ๆ ที่ขออนุญาตเรียกว่าร้านบ้าน ๆ ก็คือ เจ้าของกิจการขาดทักษะในการใช้เทคโนโลยี จะสมัคร จะลงทะเบียนเจอขั้นตอน วิธีการมากมายก็ถอดใจ “Robinhood” เห็นปัญหานี้จึงเตรียมทีมงานไว้สำหรับให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งคิดว่าต่อไปแค่เดินไปธนาคารไทยพาณิชย์ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยจัดการก็เรียบร้อย 
ไม่เพียงเท่านั้น ทางแอปฯ เตรียมทีมงานที่จะค่อยช่วยลงภาพเมนู แต่งภาพเมนู คิดแคปชั่นโดน ๆ รวมถึงช่วยเขียนแนะนำเมนูให้ใครเห็นก็ต้องหยุดสนใจด้วย
4. มีเครื่องมือที่จะช่วยกระตุ้นการขายนอกช่วงเวลาที่ร้านขายดี
ข้อนี้ได้ฟังตอนแรกก็ยังสงสัยว่าทางแอปฯ จะทำอย่างไร เมื่อศึกษารายละเอียดแล้วสรุปได้ว่า ทางแอปฯ จะนำเอา Dynamic Delivery Pricing เข้ามาช่วยวิเคราะห์และกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งอาหารนอกเวลาที่ร้านขายดีอยู่แล้ว โดยการจูงใจด้วยราคาส่งลดพิเศษ หรือ กลยุทธ์อื่น ๆ ที่จะตามมา
5. ใช้โซลูชั่นที่ SCB มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ
ข้อนี้ถือว่า Win Win ระหว่างทางแอปฯ และผู้ประกอบการ ในการนำเอาเครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาเชื่อมโยงเข้ากับแอปเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ บริการต่าง ๆ ที่ธนาคารมีอยู่ มาผลักดันการชำระเงินแบบดิจิทัลเพย์เมนต์อย่างสมบูรณ์ ลูกค้าสามารถเลือกชำระค่าอาหารผ่านการตัดบัญชีใน SCB EASY หรือตัดบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน ชีวิตง่าย จ่ายสะดวกขึ้น และแน่นอนคงจะรวมไปถึงโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้นด้วย
โดยในปี 2563 ให้บริการทุกพื้นที่ใน กรุงเทพฯ  สมุทรปราการ นนทบุรี รวมถึง ปทุมธานี
  • เฉพาะบางพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร (อำเภอเมืองและกระทุ่มแบน)
  • เฉพาะบางพื้นที่ในจังหวัดนครปฐม (อำเภอนครชัยศรี พุทธมณฑล และบางเลน) โดยจะพิจารณาขยายพื้นที่ในระยะต่อไป
ซึ่งหากผู้บริการท่านใดยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมแอปสามารถเข้าไปดูรายละเอียดวิธีการสมัครได้ที่ www.robinhood.in.th
คลิกอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
RobinhoodSCBfood deliveryการตลาดเพื่อธุรกิจร้านอาหาร

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด