บุญนำพา บริการจัดงานบุญถึงบ้าน แชร์ประสบการณ์ 7 ปี ร้านอาหารอยากทำจัดเลี้ยงต้องอ่าน!

20 ก.ค. 2563
‘บุญนำพา’ ถือเป็นผู้ให้บริหารจัดงานเลี้ยงทำบุญ (Catering) แถวหน้าของเมืองไทย ด้วยยอดจัดงานมากถึง 300 งานต่อเดือนในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีมูลค่าหลักสิบล้านต่อเดือน โดยปัจจุบันได้ยกระดับการบริการสู่ One Stop Service Catering พร้อมกับแตกไลน์บริการอย่าง อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง Mr.Chon และล่าสุดเปิดพื้นที่ออฟฟิศเป็นร้านอาหารเพื่อให้ลูกค้าสามารถแวะลองลิ้มชิมรสชาติอาหารก่อนได้ สิ่งสำคัญที่ทำบุญนำพายืนหยัดเข้าสู่ปีที่ 7 มาจากการวางแผนและสร้างระบบให้แข็งแกร่ง จึงชวนไปเจาะเบื้องหลังในการสร้างธุรกิจของ คุณกอล์ฟ - สรสิช เนตรนิล ผู้ก่อตั้งบุญนำพา ให้เติบโตและมีการพัฒนาบริการอย่างไม่หยุดนิ่ง 
จุดเริ่มต้นของบุญนำพาได้ไอเดียนี้มาอย่างไร คุณกอล์ฟ
 : ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมไปงานขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อน ระหว่างจัดงานทำบุญ เพื่อนก็จะบ่นตลอดเวลาว่า ดูวุ่นวาย เตรียมอะไรไม่รู้เรื่อง เขาเสียเวลากับการทำเรื่องเหล่านี้พอสมควร เนื่องด้วยเป็นอยู่ในวัยทำงานก็จะไม่ค่อยมีเวลาในการเตรียมงานทำบุญบ้าน 
พอเห็นเขาบ่นแบบนี้ก็เลยเกิดเป็นไอเดียว่า ถ้าเรารับจัดงานทำบุญบ้าน ทำบุญออฟฟิศให้คนอื่นคงจะดี เพื่อมอบสะดวก รวดเร็ว แล้วก็ชวนคนมาทำบุญได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากไอเดียเริ่มต้น ทำให้เราศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการจัดทำงานบุญทั้งหมดว่าทำอย่างไรบ้าง ต้องมีอะไรบ้าง โดยการไปศึกษากับพระว่าต้องเตรียมอย่างไร ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีอาหาร โดยเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เราไปจ้างคนอื่นมาทำแคเทอริ่งให้ เหมือนเราเป็นออแกไนเซอร์ นั่นคือสิ่งที่เริ่มต้น 
แล้วมาขยับขยายมาจับธุรกิจแคเทอริ่งได้อย่างไร คุณกอล์ฟ : แคเทอริ่งเป็นปัญหาที่เรานำมาแก้ไข เมื่อรับจัดงานทำบุญไปเรื่อยๆ เรื่องที่เราควบคุมไม่ได้คืออาหาร ไม่สามารถควบคุมคุณภาพ การบริการของพนักงานได้ มีฟีดแบ็กจากลูกค้ากลับมาว่าอาหารรสชาติไม่อร่อย บริการไม่ดี ซึ่งเขาไม่ได้จำว่าเราไปใช้คนอื่น แต่จำว่าบุญนำพาอาหารไม่อร่อย พอเกิดปัญหาเราก็เลยเซ็ตแคเทอริ่งขึ้นมาเอง ผมเป็นคนชอบทำครัวอยู่แล้ว เลยทดลองว่าจำนวน 10 หัว 100 หัว 1,000 หัว ต้องเตรียมปริมาณเท่าไร แคเทอริ่งไม่ได้เพิ่ม 10 เท่า เพิ่มเป็นสเกล อันนี้เราเรียนรู้เก็บข้อมูลมา 7 ปี ว่าเมนูนี้ 1,000 หัวต้องเตรียมเท่าไร จนปัจจุบันสามารถทำเป็นระบบคลิกเดียวก็รู้แล้วว่าต้องเตรียมเท่าไร เพราะเก็บข้อมูลไว้ในระบบคลาวด์ นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำบุญนำพา 
กลุ่มเป้าหมายของบุญนำพาเป็นใครบ้าง คุณกอล์ฟ 
: เราตั้งกลุ่มเป้าหมายจากการเสิร์ชข้อมูล ก็ดูว่ามีบ้านใหม่เกิดขึ้นปีละกี่หลัง มีออฟฟิศปริมาณเท่าไร ซึ่งปัจจุบันบริษัทกับบ้านมีสัดส่วนครึ่งๆ แต่เราเน้นลูกค้าบริษัท เพราะโอกาสที่จะจัดซ้ำง่ายกว่า 
ปัจจุบันบริการที่โดดเด่นของบุญนำพามีอะไรบ้าง คุณกอล์ฟ
: ปัจจุบันบุญนำพามีบริการจัดงานอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็นทำบุญบ้าน ทำบุญบริษัท ตั้งศาล งานบรวงสรวง เป็นต้น บริการแคเทอริง ทั้งงานทำบุญ งานจัดเลี้ยง และงานซุ้มอาหาร  ซึ่งเรามีครัวกลางรองรับได้ประมาณวันละ 2,000 คน ร้านอาหาร เนื่องจากบางคนที่จะจัดงานก็อยากชิมรสชาติอาหาร  จึงแบ่งพื้นที่ภายในออฟฟิศเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาชิมอาหารก่อนได้ ก็เพิ่งเปิดบริการประมาณ 2 เดือน
อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง สำหรับลูกค้าที่เป็นกลุ่มร้านกาแฟ คาเฟ่ ที่ไม่เชฟและอะคาเดมี สำหรับคนทำธุรกิจร้านอาหารและแคเทอริง คาดว่าน่าจะพร้อมเปิดช่วงปลายปีนี้ ซึ่งบริการทั้งหมดมาจากดาต้าทั้งหมดที่เราเก็บ และค่อยๆ ต่อยอดมาเรื่อยๆ
การทำธุรกิจแบบไม่มีหน้าร้าน มีข้อดีข้อได้เปรียบ และความแตกต่างอย่างไร คุณกอล์ฟ
 : มีทั้งข้อดีและข้อไม่ดี บุญนำพาเป็นธุรกิจแบบไม่มีหน้าร้าน แสดงว่าจะมีออเดอร์เข้ามาก่อนล่วงหน้า ผมก็ไม่ต้องสต็อกของไว้มาก แต่ถ้าเป็นร้านอาหารทั่วไปจะต้องมีการสต็อกของ เพราะไม่รู้ว่าคนจะเข้ามามากน้อยขนาดไหน ข้อนี้ต่างกัน ข้อต่อไปถ้าเป็นร้านที่มีหน้าร้าน อาจจะสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าได้มากกว่าร้านที่ไม่มีหน้าร้าน เพราะลูกค้าสามารถเข้ามาหาที่ร้านได้โดยตรง ทำให้บุญนำพาจะมีลูกค้าสอบถามตลอดว่ามาชิมได้ไหม เราเลยต้องจัดออฟฟิศให้ลูกค้าสามารถมาชิมอาหารได้ เสมือนเป็นหน้าร้าน ถามว่าดีไหมสำหรับการมีหน้าร้าน ดีในแง่ของความน่าเชื่อถือ การมือตัวตน แต่ข้อด้อยคือจะต้องบริหารจัดการสต็อกที่ดี เพื่อป้องกันวัตถุดิบเสียหาย เรามีวิธีการจัดการโดยตอนเช้าทำแคเทอริง เพราะฉะนั้นวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารตอนเย็น จะถูกเทิร์นไปเป็นแคเทอริงในเช้าวันต่อไปด้วย ซึ่งมองว่าถ้าคนจะมีร้านอาหารและทำแคเทอริงด้วยต้องทำแบบผม ไม่อย่างนั้นจะมีวัตถุดิบที่ต่างกัน แต่ระบบหลังบ้าน อย่างเรื่องของบัญชี การเก็บข้อมูลหรือการแบ่งตัวเลขว่าอะไรเป็นต้นทุนของร้าน อะไรเป็นต้นทุนของแคเทอริง ต้องวางแผนกับทางฝ่ายบัญชีให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นตัวเลขจะพันกัน จะแยกไม่ออกว่าเป็นของยูนิตไหน
เมื่อไม่มีหน้าร้าน แล้วมีวิธีการโปรโมททำการตลาดอย่างไร คุณกอล์ฟ
 : เบื้องต้นในการตลาดออนไลน์ ไม่ได้ทำการตลาดออนไลน์อย่างเดียว เราทำการตลาดทางออฟไลน์ด้วย ในทำการตลาดออนไลน์แล้วลูกค้าเข้ามาทางออนไลน์จริงหรือไม่ เรามีเทคนิคในการเก็บข้อมูลของตัวเอง แล้วเอามาวิเคราะห์ เพราะเรามี Marketing Analysis ของเราเอง ในการเก็บข้อมูลลูกค้าทั้งหมด และช่องทางการเข้ามาว่า เข้ามาจากทางช่องทางไหน จริงหรือไม่จริง ซึ่ง Facebook ทำได้ด้วยการใช้คีย์บางอย่าง LINE OA ทำได้ด้วยการทำแฮชแท็กและการตั้งกลุ่มต่างๆ ซึ่งเราสามารถแยกลูกค้าได้ว่าเป็นเกรด A B C อย่างไร มีลูกค้าเก่ากลับมาใช้บริการอย่างไร ทั้งหมดนี้คือ Custumer Data ของเรา ส่วนเรื่องของความน่าเชื่อถือ คือการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้ารู้ว่าเราเป็นใคร แล้วสร้างความน่าเชื่อถืออย่างไรต่อ ก่อนโควิด-19 เรามีการจัดกิจกรรมไปทัวร์ ไปเที่ยว  เพื่อที่จะได้รักษาสัมพันธ์กับลูกค้า เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งนั่นก็คือ O2O Offline To Online และ Online To Offline แต่จะเน้นหนักทางไหนก็อยู่ที่การเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ซึ่งในกรุงเทพฯ ผมแยกได้หมดเลยว่าแต่ละเขตมีลูกค้าจำนวนเท่าไร แบ่งเป็นโซนกรุงเทพฯ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก โซนชั้นใน โซน ต่างจังหวัดมีลูกค้าอยู่จำนวนเท่าไร เรารู้หมดเลย เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ไหนที่เล่นกับคนกรุงเทพฯ ในเมือง เราจะ Specific ลงไปได้
สัดส่วนลูกค้าที่เข้ามาจากช่องทางต่างแบ่งได้เป็นอย่างใรบ้าง คุณกอล์ฟ 
: ตอนนี้ลูกค้าบอกต่อคิดเป็นสัดส่วน 50% เราเลยมีฐานลูกค้าเก่ามาใช้ประจำทุกปี แล้วมีลูกค้าแนะนำบอกต่ออยู่พอสมควร อย่างในช่วงโควิด-19 เข้ามา ถามว่าเรากระทบไหม กระทบครับ ตอนเดือนเมษายนกระทบ 80% เนื่องจากจัดงานไม่ได้ ลูกค้าจอง 300 กว่ารายต้องเลื่อนออกไป แต่ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งขายดี Mr.Chon ซึ่งอีกหนึ่งแบรนด์ที่แยกออกมา เป็นน้ำซอสเขียวหวาน น้ำซอสมัสมั่น สามารถทานกับไก่ทอดเกาหลีได้ นั้นก็มาช่วยทำให้เลือดเราไหลช้า มีรายได้เข้ามาในช่วงโควิด-19 ซึ่งก็เกิดมาจากการที่ผมจัดสรรข้อมูลเอาไว้อย่างดีแล้ว เลยมีสินค้าและ บริการมานำเสนอให้ลูกค้าของเราได้ แล้วพอช่วงจังหวะที่คนเริ่มกลับมา เราก็เริ่มมีลูกค้ากลับมาพอสมควรแล้ว เพราะว่ามีดาต้าเก่า ทำให้พอก้าวเดินต่อไปได้ ช่วงที่โควิด-19 เข้ามาบุญนำพาได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน มีวิธีปรับตัวอย่างไร คุณกอล์ฟ : เนื่องจากเรามีพนักงานพอสมควร พนักงานเราก็เทิร์นมาเป็นเดลิเวอรี่ ก็นำรายได้ค่าเดลิเวอรี่ให้พนักงาน ทำให้เสียค่าขนส่งลดลงจากการใช้หลายๆ เจ้า ซึ่งถามว่าเราใช้ไหม เราใช้บิ๊กโฟร์ของบริการเดลิเวอรี่ แต่เราก็พยายามให้พนักงานเราส่งเองเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าจะทำให้เซฟต้นทุนค่าใช้ในการค่าขนส่งได้พอสมควร แล้ว ณ ตอนนั้นในช่วงโควิด-19 บริการเดลิเวอรีอาหาร และอาหารสำเร็จรูปก็ทำการส่งอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเรามีดาต้าลูกค้าพอสมควร เราก็ผันทีมงานเพื่อรับบริการพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านหรือออฟฟิศของลูกค้า ในราคาที่เราอยู่ได้ เพื่อให้มีเงินสดเข้ามา ก็จะปรับตัวแบบนี้
ในยุค New Normal มีการปรับแผนธุรกิจอย่างไรบ้าง คุณกอล์ฟ 
: อันดับแรกปรับกลยุทธ์ในเรื่องการขยับขยายให้ช้าลงนิดนึงก่อน ไม่ลงทุนอะไรที่เป็นเม็ดเงินมาก อะไรที่ไม่จำเป็นต้องขยายจะยังก่อน เพื่อรักษาเงินสดเอาไว้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีระลอก 2 ระลอก 3 ไหม รวมไปถึงปรับรูปแบบแพ็กเกจ บริการแคเทอริ่งอาจจะเป็นบ็อกเซ็ตให้ลูกค้านำกลับบ้านได้ มีเครื่องป้องกัน ฉากกั้นละอองฝอยระหว่างพระสงฆ์กับฆารวาส ส่วนเรื่องอาหารก็ดูช่องทางในการเพิ่มเติมต่อไป 
ขายอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน หรือ Ghost Kitchen แต่ไม่อยากเสียค่า GP Delivery มีคำแนะนำไหมว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ คุณกอล์ฟ 
: ผมมองว่าขายของบนโลกออนไลน์โดยที่ไม่มีหน้าร้านแล้วคนจะซื้อเรามันไม่ง่าย ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาสังเกตได้ในช่วงโควิด-19 หลายคนที่หันมาทำอาหารขายทางออนไลน์ แล้วส่งเดลิเวอรี คนซื้อส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อน ญาติพี่น้องก่อน รู้จักเราเลยซื้อสนับสนุน แล้วถ้าไม่กลุ่มนี้ล่ะ ต้องเพิ่มเติมคือกลุ่มใดบ้าง จะมาบูสต์โพสต์อย่างเดียวคงไม่ใช่ มันมีหลายองค์ประกอบ มาร์เก็ตติงอะไร สิ่งเร้าอะไรที่ทำให้คนสนใจอยากมาซื้อกับเรา มีปัจจัยอะไรบ้าง สิ่งที่เราทำตอบโจทย์ลูกค้าหรือเปล่า แล้วลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ตรงไหน แล้วค่อยๆ เจาะไป ยิ่งเป็นอาหารเดลิเวอรี ผมมองว่าเราอยู่ตรงไหน ลูกค้าก็อยู่ไม่เกิน 5 กิโลเมตร ไกลกว่านั้นน่าจะน้อยลงแล้ว แล้วใน 5 กิโลเมตรนี้เป็นคนประเภทไหนบ้าง กลับมาวิเคราะห์ลูกค้าในเชิงมาร์เก็ตติง แล้วค่อยมานั่งแตกโจทย์ทีละข้อ เพราะไม่อย่างนั้นจะเสียเงินค่าบูสต์โพสต์โดยที่ไม่ได้อะไรกลับมา 
สำหรับคนทำร้านอาหารที่อยากต่อยอดธุรกิจแคเทอริ่งควรต้องเริ่มอย่างไร คุณกอล์ฟ 
: ตลาดแคเทอริ่งแข่งขันกันสูง ถ้าคนที่มีร้านอาหารอยู่แล้ว คงต้องมองเรื่องของการบริหารจัดการงานครัว จากปกติที่ทำอะ ลา คาร์ต จานต่อจาน แล้วเราจะทำให้คนทาน 100 คน มันไม่ได้เพิ่มเป็น 100 จาน เครื่องปรุงก็ไม่ได้เพิ่ม 10 เท่า แต่เป็นเรื่องสัดส่วน ถ้าไม่มีสูตรหรือดาต้าก็ต้องทดลองทำก่อน แล้วต้องบาลานซ์เรื่องคนให้ดี เราต้องมีทีมงานกี่คนถึงจะทำได้ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดควรศึกษาข้อมูลก่อน
ปัจจัยใดบ้างที่จะนำพาให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ คุณกอล์ฟ 
: ธุรกิจประสบความสำเร็จต้องมีความซื่อสัตย์ และความจริงใจ ในการบริการให้กับลูกค้า ความซื่อสัตย์หมายถึง เราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ บอกลูกค้าตรงๆ อย่าไปโลภ หวังว่าจะได้เงิน ทั้งที่เราทำไม่ได้ สิ่งไหนที่ผมทำได้หรือไม่ได้ก็จะบอกตรงๆ อย่างเช่นเวลาไม่พอก็จะบอกลูกค้าว่าเราทำไม่ได้ ส่วนเรื่องความจริงใจ คือพูดกันตรงๆ ซึ่งทั้งสองข้อนี้เอามาใช้กับพนักงานได้ด้วย
อยากให้ฝากกำลังใจถึงผู้ประกอบธุรกิจอาหาร คุณกอล์ฟ 
: ผมให้ความสำคัญในการทำธุรกิจอยู่สามส่วน หนึ่ง - คน สอง - เวลา และ สาม - เงินทุน ถ้ามีทั้งสามส่วน การทำธุรกิจน่าจะอยู่รอดต่อไปได้ บางคนมีคน มีเวลา แต่ไม่มีเงินทุนก็ทำไม่ได้ ก็ต้องไปหาแหล่งเงินทุนว่าจะกู้เงินแบงก์ หาหุ้นส่วน ส่วนเรื่องเวลา หมายถึงการทุ่มเททำลงไป คิดแล้วทำ ถ้ามีทั้งสองอย่างแล้วก็ไปหาคนที่มีความช่ำชองมาช่วยผลักดันและเดินไปได้ ผมว่าถ้าให้ความสำคัญทั้งสามเรื่องนี้ แล้วมีจิตใจที่เข้มแข็ง สู้ไปกับมัน ไม่ว่าจะ New Normal หรือยุคไหน เราจะผ่านไปได้
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
วิกฤตร้านอาหารDeliveryNew NormalCateringบทสัมภาษณ์ และรีวิว

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด