ขาดเงินทุน อยากเปิดร้านอาหาร กู้เงินลงทุนอย่างไรให้ผ่าน?

18 ม.ค. 2565
สูตรจากเชฟมืออาชีพก็มีให้พร้อมแล้ว แต่ขาดเงินทุนเปิดร้านทำอย่างไรดี? ถ้าจะกู้เงินมาลงทุนต้องทำอะไรบ้าง? วันนี้ MHA ชวนมาทำความเข้าใจเรื่องการลงทุนกัน เพราะจะลงทุนเปิดร้านทั้งที จะต้องมีความรู้เรื่องการลงทุนธุรกิจร้านอาหารก่อน ต้องรู้ถึงขั้นกี่ปีถึงจะคืนทุนกันไปเลย จะได้คุยกับธนาคารรู้เรื่อง

เข้าใจเรื่องเงินทุนก่อน

โดยปกติเงินลงทุนหลักจะมาจาก 2 แหล่ง (หรือที่เราเรียกกันว่า 2 เจ้า) ได้แก่ 1.เจ้าของ  2.เจ้าหนี้
1.เจ้าของ ในที่นี้หมายถึง เจ้าของกิจการ เจ้าของร้าน หรือหุ้นส่วนร้าน ซึ่งเป็นผู้ออกทุนทำร้านอาหาร จะอยู่ในรูปแบบบุคคลหรือนิติบุคลก็ได้ โดยทั่วไปเจ้าของมักจะใช้เงินเก็บหรือเงินสำรองในการลงทุน อย่างไรก็ดีในยุคปัจจุบัน การเอาเงินเก็บออกมาลงทุนจำนวนมากเป็นไปได้ยากมาก เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่แน่นอน การมีเงินสำรองเก็บไว้ในยามฉุกเฉินเป็นเรื่องที่จำเป็น หรืออาจจะนำเงินออกมาลงทุนได้บางส่วน อีกส่วนต้องหาจากแหล่งอื่น ที่เราเรียกกันว่า เจ้าหนี้

2.เจ้าหนี้ ในที่นี้หมายถึง แหล่งเงินที่กู้ยืมมาลงทุน โดยทั่วไปจะเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงิน ที่ปล่อยเงินกู้สำหรับทำธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า “สินเชื่อธุรกิจ” โดยคิดค่าตอบแทนเป็นดอกเบี้ยรายปี ทั้งนี้ธนาคารจะปล่อยกู้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นหลักทรัพย์ของผู้ยื่นกู้ ประวัติการเงิน รวมถึงแผนธุรกิจที่ผู้กู้ยื่นเสนอตอนทำเรื่องกู้ ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถกู้ผ่าน เพราะธนาคารเองต้องดูความเป็นไปได้ของธุรกิจด้วยเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้สูญ ถ้าธุรกิจเกิดไปไม่รอดหลังจากปล่อยกู้ไปแล้ว
shutterstock_170427077.jpg 495.97 KB
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องคิดถ้าจะต้องกู้เงินมาลงทุนทำร้านอาหารคือ ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจให้ดีก่อน เริ่มต้นจากศึกษาแนวคิดทางธุรกิจร้านอาหารให้ถ่องแท้ก่อน โดยเริ่มจากคำถามง่าย ๆ ดังนี้
  • ขายอะไร เราอาจจะมีความชอบ หรือไปกินร้านไหนแล้วเห็นลู่ทางอยากขายบ้าง แต่ต้องสำรวจก่อนว่าของที่จะขายเหมาะกับทำเลหรือไม่ มีกลุ่มลูกค้ารองรับรึเปล่า
  • ขายให้ใคร หาให้ได้ว่าใครคือลูกค้าที่แท้จริงของร้าน หลายคนมักจะพลาด เปิดร้านเพราะเพื่อนๆหรือคนรู้จักชอบอาหารที่ทำ สุดท้ายพอเปิดร้านเลยขายได้แต่คนรู้จัก ไม่มีลูกค้าเพิ่ม จนต้องพับกิจการไป 
  • ขายอย่างไร จะขายให้ลูกค้าในราคาเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมกับลักษณะกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้าจะยอมจ่ายได้เท่าไหร่สำหรับอาหารที่เราขาย
  • ขายที่ไหน ลูกค้าจะซื้อจากช่องทางไหน ถ้าขายหน้าร้านทำเลเป็นเรื่องสำคัญ หรือถ้าเน้นขายเดลิเวอรี่ ต้องดูว่ามีกลุ่มลูกค้าให้จัดส่งแถวนี้ไม่เกิน 5 กิโลเมตรมากน้อยแค่ไหน ต้องลงทุนเช่า Cloud kitchen หรือไม่
  • ขายเมื่อไหร่ จะเปิดร้านเมื่อไหร่ ขายเวลาไหนบ้าง ช่วงเวลาพีคของวันคือช่วงใด และวันไหนที่จะขายดี-ไม่ดี

สิ่งเหล่านี้เหมือนการทดลองทำธุรกิจบนกระดาษก่อน โดยตั้งเป็นสมมติฐาน แล้วหาข้อมูลมาสนับสนุน และลงรายละเอียดให้ชัดเจนที่สุด และจะทำให้เราได้ “แผนธุรกิจ” ของร้านออกมา ซึ่งจะบอกถึงต้นทุนที่เราจะต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อเดือนเท่าไหร่ มีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบคู่แข่งอย่างไรบ้าง ถ้าจะทำจริงกำลังการผลิตเราเพียงพอหรือเปล่า และกำไรประมาณการที่เราคำนวนเอาไว้คุ้มกับการทำธุรกิจหรือไม่ *ตรงนี้สำคัญ เพราะธนาคารจะพิจารณาปล่อยกู้จากข้อมูลผลกำไร ที่เขียนไว้ในแผนธุรกิจนี้ประกอบไปด้วย
shutterstock_1073013353.jpg 783.24 KB
กลับมาที่เรื่องเงินลงทุน อยากเปิดร้านอาหาร กู้เงินลงทุนอย่างไรให้ผ่าน ต้องศึกษา 3 เรื่องนี้เพิ่มเติม
  1. ต้องรู้ก่อนว่าจะใช้เงินทุนกับอะไรบ้าง  ในการลงทุนร้านอาหาร ไมได้มีเพียงแค่ลงทุนค่าทำร้านเท่านั้นยังมีค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่อีกมาก เช่น ค่าปรับปรุงร้าน ค่าตกแต่งสถานที่ ค่าซื้อของหรืออุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในครัว ค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างพนักงาน ค่าโปรโมทร้าน  และจำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองเผื่อฉุกเฉินอีกด้วย 
  • พื้นที่ของร้านก็มีความแตกต่างด้านราคา และยังมีค่ามัดจำร้านอีกก้อนโต
  • ค่าออกแบบโครงสร้างและตกแต่งภายใน ให้แบ่งเป็นค่าออกแบบขั้นต่ำ กับค่าออกแบบขั้นสูง ซึ่งเจ้าของร้านเองจะได้มีพื้นที่ตรงกลางให้เลือก
  • ค่าก่อสร้างร้าน และปรับปรุงร้าน ในกรณีเซ้งร้านมาปรับปรุงใหม่
  • อุปกรณ์ห้องครัว เตาแก็ส เตาอบ ตู้เย็น ตู้แช่ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับประเภทร้านที่จะทำ
  • อุปกรณ์ในงานบริการต่างๆ เช่นลูกค้าต้องการนั่งในร้าน ขนาดร้านของเราควรเป็นเท่าไหร่ ความสามารถในการรับลูกค้า ต้องมีเก้าอี้กี่ตัว มีโต๊ะกี่ตัว ต่อขนาดของร้าน ร้านจะได้ไม่ดูโหลงเหลง หรือดูคับแคบมากจนเกินไป
  • ค่าสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ  ป้ายต่างๆ ขนาดของป้าย และอย่าลืมคำนึงถึงภาษีป้ายด้วย เพราะถ้าป้ายยิ่งใหญ่ ภาษีก็บานตาม
  • เงินในการจ่ายค่าวัตถุดิบในการเปิดร้าน
  • ค่าใบอนุญาตต่างๆ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
  • ค่าพนักงานก่อนเปิดร้าน เช่น การฝึกหัดพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการจัดหาคน
  • ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ กล้องวงจรปิด ฯลฯ
  • ค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ เช่น กระดาษ ปากกา กล่องใส่อาหารหลายขนาด  ช้อน ส้อมพลาสติก หลอด ถุงพลาสติก กระดาษทิชชู่ เป็นต้น

2. ต้องรู้ก่อนว่าจะใช้เงินทุนเท่าไหร่ ให้ลองคำนวณจากเงินลงทุนที่เราต้องใช้ในการเปิดร้านทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เงินค่ามัดจำสถานที่ ค่าทำร้าน ค่าจิปาถะ รวมถึงเงินทุนหมุนเวียน ในส่วนนี้ต้องเตรียมเงินลงทุนค่าเตรียมการเปิดร้านประมาณ 60-70% 
เงินทุนหมุนเวียนสำรอง 4-6 เดือน เผื่อเหตุไม่คาดฝัน ไม่มีลูกค้าเข้าร้านอย่างที่คิด จะยังมีเงินส่วนนี้ประคองธุรกิจไปได้ มีเงินจ่ายค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำไฟ ค่าจ้างพนักงาน เพราะต้องไม่ลืมว่า การเปิดร้านใหม่ต้องใช้เวลาสักระยะ เพื่อให้ลูกค้ารู้จักร้าน ในส่วนนี้คิดเป็น 20-30%
งบการตลาด มือใหม่มักจะลืมงบตัวนี้ เอาทุนไปลงกับการตกแต่งร้านเป็นส่วนมาก จนลืมไปว่าการทำให้ร้านเป็นที่รู้จักต้องใช้งบประมาณเช่นกัน เช่น ค่ายิงโฆษณา ค่าจ้างทำสื่อ จ้าง Influencer แม้แต่ป้ายโฆษณา ใบปลิว สื่อการตลาดต่างๆ ก็ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น ส่วนนี้ให้ตั้งงบไว้ 10-20%

3. ต้องรู้ว่าจะคืนทุนเมื่อไหร่ ยกตัวอย่าง ถ้าเราใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งหมดรวมเงินหมุนเวียน อยู่ที่ 3 ล้านบาท เราทำการสำรวจแล้วพบว่า ลูกค้าบริเวณร้านจะยอมจ่ายกับอาหารของเรา 200 บาท และมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 3,000 คนต่อเดือน หรือ 100 คนต่อวัน เท่ากับรายได้ต่อเดือน 600,000 บาท ถือเป็นตัวเลขคร่าวๆ ไว้ ในจำนวนนี้หักเป็นต้นทุนขายประมาณ 35% (เป็นตัวเลขมาตรฐานที่ควรควบคุมไว้ไม่ให้ต้นทุนเกินจากนี้) เท่ากับ 210,000 บาท ตามด้วยค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าจิปาถะต่างๆ อีกประมาณ 300,000 บาท รวมแล้ว เหลือเป็นกำไรสุทธิ 90,000 บาทต่อเดือน รวมแล้วเป็นกำไรต่อปี 1,080,000 บาท ต่อปี 

จากนั้นลองเข้าสูตรคำนวณหา ROI หรือ Return on Investment อัตราผลตอนแทนการลงทุน ดังนี้
ROI = (กำไรสุทธิ/เงินลงทุน) x 100 
จากตัวอย่างจะพบว่า ROI = (1,080,000/3,000,000)x100 = 36% ต่อปี ซึ่งถือว่าโอเค

แล้วให้คิดระยะเวลาคืนทุน โดยใช้สูตร 
ระยะเวลาคืนทุน = จำนวนเงินลงทุน หาร ด้วยกำไรสุทธิ
จากตัวอย่างจะพบว่า ระยะเวลาคืนทุน = 3,000,000/1,080,000 = 2.77 เดือน หรือประมาณ 2 ปี 10 เดือน

ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่คำนวณได้นี้ ต้องกลับมามองว่า ถ้าระยะเวลาคืนทุนเท่านี้ เราพอใจหรือไม่ หรือถ้าลงทุนอย่างอื่นให้ผลตอบแทนดีกว่า ไวกว่าหรือเปล่า ต้องลองชั่งน้ำหนักดู 

นอกจากนี้ถ้าคำนวณงบการเงินเป็น เราจะเห็นมูลค่าของร้านในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้า ลองดูว่ามูลค่าร้านจะเพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้กับตัวเราเอง นักลงทุน และธนาคาร ในการตัดสินใจลงทุนหรือปล่อยกู้ให้ธุรกิจร้านอาหารของเรานั่นเอง

แนะนำให้ลองศึกษาเพิ่มเติมได้ที่คอร์ส “การศึกษาความเป็นไปได้ธุรกิจร้านอาหาร” โดย อาจารย์เซ็ธ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท จีโนซิส จำกัด ที่ปรึกษาธุรกิจร้านอาหารและแฟรนไชส์  คอร์สที่จะสอนวิธีการศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจร้านอาหาร วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน วิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการตลาด ความต้องการของลูกค้า วิเคราะห์ความสามารถในการให้บริการ รวมถึงวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินอย่างง่าย ๆ สำหรับผู้ประกอบมือใหม่ ที่สำคัญคอร์สนี้ ฟรี!!!  คลิก

แถมท้าย สำหรับใครที่ยังไม่มีไอเดียว่าจะเปิดร้านขายอาหารอะไรดี แนะนำให้ลองศึกษาสารพัดคอร์สทำอาหารขายของ Makro HoReCa Acadamy ดูก่อน เพราะมีให้ศึกษาครบ ทั้งสูตรอาหารจากเชฟมืออาชีพ การันตีความอร่อยถูกใจลูกค้า การคำนวณต้นทุนวัตถุดิบ พร้อมแนะนำราคาขายต่อหน่วย เรียกได้ว่า ดูจบแล้วพร้อมเปิดร้านได้ทันที 

ตัวอย่างคอร์ส
“ข้าวเหนียวหมูทอด ไก่ทอด สูตรเงินล้าน พร้อมแจ่วปลาร้าสุดแซ่บ” โดย เชฟโอ๋ อาจารย์ญาณัช มะอาจเลิศ อาจารย์ผู้สอนโรงเรียนการอาหารไทยเอ็มเอสซี และอนุกรรมการสมาคมเชฟประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย ด้วยประสบการณ์มากกว่า 10 ปี

“ไก่กรอบซอสเกาหลี” เมนูฮิตตามกระแสซีรีย์ โดย เชฟติ๊ตูม ศุภรา กิตติอุดม Celeb Chef Thailand 
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
BusinessRestaurantCapitalInvestmentธุรกิจร้านอาหารเงินทุนลงทุน

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด