เผยมุมมอง 10 สายอาชีพ สู่เส้นทางการเป็นเจ้าของร้านอาหาร ชีวิตพลิกผันเพราะวิกฤตไวรัส! ส่งต่อกำลังใจให้มือใหม่ไปต่อ

24 ก.ย. 2564
ถึงจะมือใหม่แต่ใจสู้ เปิดมุมมองความคิดและความเป็นมาของร้านอาหาร 10 แห่ง ที่พลิกวิกฤติชีวิตจากพิษโควิด ให้กลายเป็นโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เพื่อเป็นแนวทางในการทำธุรกิจร้านอาหาร และส่งต่อกำลังใจ ให้มือใหม่เจ้าของร้านอาหารทุกคน สู้!

ร้านบะหมี่จินหู่

จากเจ้าของโฮสเทล Beehive Phuket Old Town Hostel พอเกิดวิกฤติโควิดรอบแรกในปี 2563 เกาะภูเก็ตโดนสั่งปิดช่วงเดือนมีนาคม นักท่องเที่ยวเท่ากับศูนย์ ช่วงแรกยังกำลังใจดียังทำอาหารแจกคนอื่นที่ลำบาก ลองทำคลิป เป็นยูทูปเบอร์ ทำคลิปเล่นเซิร์ฟ ฆ่าเวลา คิดว่าวิกฤติจะอยู่ไม่นาน พอใกล้ช่วงไฮซีซันท้ายปีก็ลงทุนปรับปรุงที่พักโฮสเทลเพื่อรอรับนักท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ จนกระทั่ง 20 ธันวาคม 2563 รัฐประกาศปิดเกาะรอบสอง ลูกค้าหายหมด ทุนที่ลงไปก็หายหมดเช่นกัน
001.jpg 252.07 KB
คุณหนึ่ง-มโนสิทธิ์ แจ้งจบ เล่าว่า ด้วยความที่ชอบกินบะหมี่ขนาดที่ว่ากินบะหมี่ได้ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์เลยลองหัดทำบะหมี่ดู ระยะแรกทำกินเองที่บ้านก่อน แล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก จนมีเพื่อนทักมาถาม ทักมาสั่งบะหมี่ สั่งไปกินเองบ้าง ไปเลี้ยงลูกน้องบ้าง หลายคนยืนยันว่าอร่อย เลยเริ่มขายเดลิเวอรี่ตั้งแต่มกราคมจนถึงมีนาคม มีรายได้หลักหมื่นพอประคองค่าใช้จ่าย ค่าจ้างลูกน้องไปได้ และปรับสูตรบะหมี่มาเรื่อยๆ จนเข้าที่ จากนั้นก็มีเปิดเกาะช่วงสั้นๆ ช่วงสงกรานต์ปี 2564 ก็พอมีนักท่องเที่ยวไปคนไทยเข้ามาพักบ้าง โฮสเทลกลับมาคึกคักระยะหนึ่ง แต่ไม่นานก็ปิดเกาะอีก   
02.jpg 740.99 KB
วันที่โดนสั่งปิดเกาะจากโควิดระลอกสาม คือวันที่เปิดร้านบะหมี่ “จินหู่”ด้วยจุดเด่นที่เส้นบะหมี่ทำเอง เป็นบะหมี่ออแกนิค ไม่ใส่สารกันบูด พัฒนาสูตรเป็นของตนเอง โดยขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่จบจาก กอร์ดอง เบลอ มาช่วยแนะนำเรื่องการนวดแป้งและช่วยปรับรสชาติ บวกกับฝีมือการออกแบบและสร้างแบรนด์จากการทำธุรกิจโรงแรม ทำให้บะหมี่จินหู่เป็นที่รู้จักในเวลาไม่นาน จนถึงปัจจุบันคนกินติดใจ มีลูกค้าประจำ ทั้งสั่งเดลิเวอรี่และมากินที่ร้านไม่ขาด ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกเดือน และกำลังวางแผนเปิดสาขาเพิ่ม พร้อมพัฒนาธุรกิจผักออแกนิค ที่ตอนนี้ยอดออเดอร์เยอะจนส่งไม่ทันเช่นกัน และวางแผนขยายสมาร์ทฟาร์มปลูกผักออแกนิครองรับเทศกาลกินเจที่จะถึงนี้
186541733_156965603052069_9044899265331905966_n.jpg 85.7 KB

คุณหนึ่ง เจ้าของร้านบะหมี่จินหู่ (จินหู่ เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า “เสือทอง” มาจากชื่อคุณพ่อ) ฝากให้ข้อคิดและให้กำลังใจสำหรับผู้ที่ลุกขึ้นมาทำธุรกิจร้านอาหารหรือผู้ที่ยังสับสนว่าจะไปต่อยังไงดีในวิกฤตินี้ว่า หลายคนยังรอการท่องเที่ยวกลับมาพลิกฟื้น แต่อยากให้เผื่อแผนสำรองเอาไว้ โควิดน่าจะอยู่กับเรานาน และอาจจะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ถ้าหวังพึ่งภาครัฐอย่างเดียวคงลำบาก เราน่าจะต้องผันตัวเองไปหาอาชีพเสริมกัน ยังไงต้องหาทางตั้งหลักให้ได้ มีอะไรที่ชอบ ที่มีความรู้ ต้องเอาออกมาทำก่อน อยากให้กำลังใจทุกคนให้ลองลุกขึ้นมาทำ อาจจะเจออะไรที่ดีกว่าเดิมก็ได้

ข้าวแกงกินเก่ง

เพราะโควิดทำให้บริษัททัวร์ของภรรยาต้องหยุดชะงัก ครอบครัวขาดรายได้ จะทำงานบริษัทอยุ่ในเซฟโซนต่อไป ก็รายได้ไม่พอใช้ ไหนลูกจะเพิ่งคลอด จะหยิบยืมใครก็ลำบากกันหมดในช่วงเวลาแบบนี้ คุณแม็ค-ณัฐกานต์ กิ่งพัฒน์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งวิศวกรบริษัทเอกชน มาเปิดร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ ลุยให้เต็มที่ ด้วยความที่เป็นคนชอบกิน ชอบตระเวนกินกับเพื่อนในแกงค์กินเก่ง เลยตั้งชื่อร้านว่า”ข้าวแกงกินเก่ง” แต่กว่าจะเปิดร้านต้องศึกษาหาข้อมูล เตรียมความพร้อมอยู่ 2 เดือน หัดทำอาหารตามสูตร ตามยูทูป แต่ก็ยังไม่ถูกใจ ไม่เหมือนข้าวแกงปักษ์ใต้แท้ที่เคยกิน
003.jpg 1.48 MB
ตัดสินใจกลับบ้านที่นครศรีธรรมราช ปรึกษาแม่ให้แม่พาไปยังแหล่งเครื่องแกงปักษ์ใต้และตามหาอาหารใต้รสชาติแบบที่กินตอนเด็ก  แล้วกลับมาปรับสูตรเป็นของตัวเองจนลงตัวจึงเริ่มเปิดร้านขาย ชูจุดเด่นร้านข้างแกงปักษ์ใต้แท้ ไม่เหมือนใคร นอกจากข้าวราดแกงแล้วถ้าใครอยากให้ทำแกงหรือทำกับข้าวตามสั่งก็สามารถสั่งเพิ่ม และลงมือทำให้ใหม่ได้ทันที

คุณแม็คเล่าว่า เปิดร้านใหม่เหมือนเข้าโรงเรียนใหม่ ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ก็พยายามเรียนรู้ศึกษาแก้ปัญหามาเรื่อยๆ ต้องหัดลงโซเชียล หัดยิงแอดจะได้มีคนรู้จัก ลงแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เพิ่มฐานลูกค้า ใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะเป็นที่รู้จัก จนมีลูกค้าเข้ามามากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรีวิวในแอปฯ  ดีมาก จนคนอยากมาเห็นร้านจริง พอได้ลองแล้วก็แนะนำต่อกันไปอีก จนกลายเป็นขาประจำของร้านในที่สุด ปัจจุบันมียอดขายก่อนหักค่าใช้จ่ายหลักหมื่นต่อวัน
004.jpg 2.17 MB

คุณแม็ค เจ้าของร้านอาหารปักษ์ใต้ “ข้าวแกงกินเก่ง” ฝากให้กำลังใจเจ้าของร้าอาหารมือใหม่และใครที่ยังท้อยู่ตอนนี้ว่า “เคยมืดแปดด้านมาเหมือนกัน แต่ต้องคิด และให้กำลังใจตัวเองว่าสู้ๆ เพราะไม่สู้จะแย่ลง แต่ถ้าสู้ยังมีทางรอด แล้วเราจะรู้คำตอบเองว่าเราจะต้องทำอะไร โจทย์ต่อไปก็จะมาเรื่อยๆ ก่อนอื่นเราต้องมีเป้าหมาย ทุกอย่างจะไปได้ดีเอง”

สำหรับคนที่คิดจะเริ่มทำร้านอาหาร ไม่ต้องกลัวว่าร้านอาหารจะมีเยอะแล้ว อย่าไปกลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ ร้านอาหารสำคัญที่ 1.รสชาติ ต้องอร่อยต้องเป็นเอกลักษณ์ 2.หน้าตาอาหาร ต้องน่ากิน ถ่ายรูปส่งโซเชียลลงแอปฯ ต้องน่ากิน 3.ทำยังไงให้ลูกค้าสั่งซ้ำ เพราะฉะนั้นต้องรักษาคุณภาพของอาหารเอาไว้ให้ได้

สเต็กฅน"กาง"แจ้ง

เริ่มต้นจากลูกชายที่ชอบท่องเที่ยวเดินป่าและชอบกินสเต็กมาก ให้โจทย์คุณแม่ว่าจะทำยังไงถึงสามารถเอาสเต็กไปทำกินในป่าได้ โดยไม่เสีย และใช้อุปกรณ์น้อยที่สุด จากประสบการณ์การเป็นเซลส์ขายเนื้อ และรู้จักกับเชฟหลายคน เลยศึกษาสูตรทำน้ำราดสเต็กของแต่ละคนเอามาเปรียบเทียบกัน แล้วพัฒนาเป็นสูตรน้ำราดสเต็กของตัวเอง พอมีสูตรแล้วลูกชายจึงเสนอแนวคิดว่า ไหนๆ คุณแม่ “คุณวลัยพันธ์ ออกกิจวัตร” ก็วางแผนจะรีไทร์สิ้นปี 2563 อยู่แล้ว ลองออกฟู้ดทรัคมาขายสเต็กหลังรีไทร์ดีกว่า
005.jpg 184.79 KB

โดยออกไปขายวันหยุด เป็นธุรกิจของครอบครัวหลังเกษียณ ตั้งชื่อว่า “สเต็กฅน“กาง”แจ้ง” เน้นคอนเซปสเต็กที่ไม่ต้องใช้ของเยอะ กินได้ทุกที หลังจากทำรถเสร็จและทดลองออกบูธฟู้ดทรัควันคริสมาสต์ ปี 2562 ได้ยอดขายมาหมื่นกว่าบาท ลูกชายดีใจมาก หลังจากนั้นยังไม่ได้ขายอีก เพราะยังไม่ได้ตรงกับวันหยุด จนกระทั่ง เกิดเหตุไม่คาดฝัน ลูกชายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ วันที่ 5 มกราคม 2563

คุณวลัยพันธ์เล่าว่า ตอนนั้นเสียใจมาก ยอมรับว่าสติแตกเลย ไม่รู้จะทำยังไงต่อดี แต่เพราะยังทำงานประจำอยู่ ก็ไปทำงานตามปกติ จนโควิดเข้ามาช่วงเดือนมีนาคม ทางบริษัทมีนโยบายลดเงินเดือนพนักงาน เนื่องจากลูกค้าหลักของบริษัทคือบรรดาโรงแรมต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดและต้องลดการสั่งเนื้อลง ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน พอมาลองคำนวณรายได้แล้วพบว่าไม่พอกับค่าใช้จ่าย เลยตัดสินใจลาออกมาลุยขายสเต็กฅนกางแจ้งแบบเต็มตัว เพื่อสานฝันของลูกชายและหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
006.jpg 510.72 KB
เริ่มจากขับฟู้ดทรัคจอดขายริมถนนหน้าปากซอย วันแรกขายได้ 300 บาท  แต่วันที่สองขายได้ 3,000 กว่าบาท แม้ในช่วงโควิดก็ยังมีคนกินเยอะ และมีลูกค่าตอบรับเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ย่างเข้าสู่ปีที่สอง มีรายได้หลักแสนต่อเดือน ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว มีแฟรนไชส์รถฟู้ดทรัคเพิ่มอีก 2 คัน เริ่มขายแฟรนไชส์ สเต็ก“ฅน”กางแจ้ง และที่สำคัญได้สานต่อความฝันของลูกชายสำเร็จแล้ว จึงเริ่มแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ด้วยการสอนทำสเต็กฟรี สอนทำการตลาดแบบไม่คิดเงินบ้าง ทำอาหารแจกให้ผู้เดือดร้อนในช่วงโควิดบ้าง หรือแม้แต่ให้คำปรึกษาเพื่อไปเปิดธุรกิจสเต็กจนประสบความสำเร็จกันเป็นจำนวนมาก

คุณวลัยพันธ์ ฝากข้อคิดสำหรับผู้ที่คิดจะลุกขึ้นมาทำร้านอาหารไว้ว่า ความสูญเสียเป็นเรื่องธรรมขาติ ตอนนั้นสติแตกเหมือนกัน แต่เราจะเสียใจไปถึงเมื่อไหร่ ท้อได้ พักสักแป้บ แล้วลุกขึ้นมา สู้ต่อไป ทุกวันนี้เรายังมีธุรกิจ ไม่ต้องถึงกับรวยหรอก ให้มีเงินกินจนตายก็พอ ตลอดเวลาที่ทำงานมา 40 กว่าปี ความคิดเราเป็นเจ้าของมาตลอด บริษัทสอนให้เรามี Sense of Belonging  วันนี้เราเป็นเจ้าของจริงๆ เราเคยทำให้บริษัทได้กำไรเยอะแล้ว ทำไมเราจะทำเองไม่ได้

ร้านอาหารเช้า ร่มมังคุด

ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติโควิด โรงแรมแทบทุกที่ต้องปรับตัวให้อยู่รอด หลายที่ต้องปลดพนักงาน หลายที่ยังพอสู้ต่อได้ก็เจรจาลดเงินเดือนพนักงานเพื่อประคองธุรกิจกันไป คุณแด็กซ์-ณฐกฤต สังข์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายของโรงแรมชื่อดังกลางกรุงเทพฯก็เป็นหนึ่งในนั้น จากเดิมมีเงินเดือนอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน แต่พอโดนลดเงินเดือนลง 50% ก็เริ่มไม่พอใช้ เพราะค่าใช้จ่ายในเมืองหลวงยังสูงเหมือนเดิม แถมยังมากขึ้นไปอีกในช่วงที่ต้อง Work from Home ประกอบกับทางบ้านเป็นห่วงเนื่องจากสถานการณ์โควิดในกรุงเทพฯรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจกลับบ้านที่จังหวัดตรัง และเปิดร้านอาหารเช้า “ร่มมังคุด” เปิดขายเวลา 6:30-10:30 น. โดยใช้บริเวณบ้านของตัวเอง ใต้ต้นมังคุดอันเป็นที่มาของชื่อร้านนั่นเอง
239441676_191872339673354_1963292371172753318_n.jpg 358.06 KB

คุณแด็กซ์-ณฐกฤต สังข์ทอง เล่าให้ฟังว่า มาจับสังเกตได้ถึงพฤติกรรมการกินของคนตรัง ที่มักจะกินกันหลายมื้อ และแถวบ้านยังไม่มีร้านอาหารเช้าขาย บวกกับประสบการณ์ในการทำโรงแรมมาก่อน ทำให้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ต้องจัดบรรยากาศร้านให้น่านั่ง พัฒนาเมนูของร้านให้มีจุดเด่น เช่น เมนูไข่ร่มมังคุด ไข่กระทะ ฯลฯ และที่สำคัญราคาเข้าถึงได้
008.jpg 1.02 MB
เปิดร้านวันแรก 20 เมษายน ได้ผลตอบรับดีมาก คนติดใจ ลูกค้าพูดกันปากต่อปาก มีรีวิวลงโซเชียล จนมีลูกค้าเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และเริ่มมีลูกค้าจากต่างอำเภอเข้ามามากขึ้น ทำยอดขายในวันธรรมดาประมาณพันกว่าบาท และกระโดดขึ้นไปเป็น 2-3 พัน ในวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงที่ขายดีมากๆ จำเป็นต้องต่อโต๊ะเสริมเลยทีเดียว จากเดิมที่มีโต๊ะให้นั่ง 8 โต๊ะ หมุนเวียนกันตลอดช่วงที่เปิดร้าน จนถึงปัจจุบันก็ยังมียอดขายหลักพันต่อวันอยู่ และยังคงปรับเปลี่ยน คิดเมนูใหม่ เพิ่มเมนูเครื่องดื่ม ชาชัก กาแฟ และขนมอีกด้วย

คุณแด็กซ์ ฝากให้กำลังใจคนที่เพิ่งเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร หรือคนที่กำลังตกงานอยากลองขายอาหารดู ให้ลองมองคุณแด็กซ์ เป็นตัวอย่าง เมื่อเราต้องเปลี่ยน เราก็ต้องมาดูพื้นที่และสังคมที่เปลี่ยนไป ต้องมีแพลนธุรกิจ ต้องทำการบ้านให้ดีก่อน ต้องขยัน อย่าประมาทกับสิ่งที่กำลังเกิด มีสติ ทีแรกก็กลัว แต่ต้องสู้กันสักตั้งก่อน เอาประสบการณ์จากอาชีพที่เคยทำ มาใช้กับร้านได้ทั้งหมด

ร้านฮาซีนาโรตี

009.jpg 1.03 MB
“นัท เดอะวอยส์” จากอาชีพนักร้องกลางคืนประจำผับในจังหวัดเชียงใหม่ รับออกอีเว้นท์ ลงเสียงโฆษณา ทำมาตลอด 10 ปี จนมาเจอโควิดระบาดทำให้งานนักร้องและงานอีเว้นท์หายหมด ตลอดสองปีที่ผ่านมาไม่มีงานเลย จะรอสถานการณ์คลี่คลาย ก็คงไม่ได้ โชคดีที่คุณพ่อแฟนมีสูตรทำโรตี เลยลองทำโรตีสูตรซิกเนเจอร์ของตัวเองลองขายเดลิเวอรี่ดูช่วงโควิดรอบแรกจนถึงโควิดรอบสอง ยอดขายดีมากจนน่าตกใจ 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนยังนิยมในความเป็น “นัท เดอะวอยส์” มาทำโรตีขาย คนเลยอยากอุดหนุน แต่พอโควิดรอบสาม คนเริ่มออกจากบ้านได้ พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ยอดสั่งเดลิเวอรี่น้อยลง เลยมองว่ามาถึงจุดที่ควรจะเปิดร้านเป็นของตัวเองสักที เพราะคนอยากนั่งกินที่ร้าน โฟกัสที่ลูกค้าทั่วไปเลย ไม่ต้องรอนักท่องเที่ยวแล้ว จะได้เปิดธุรกิจส่วนตัวสักอย่างที่ยั่งยืน เพราะคงจะรอแต่งานสายดนตรีไม่ได้อีกต่อไป
0010.jpg 801.73 KB
คุณนัท-ณัฐพงษ์ สินเจริญ ตัดสินใจใช้เงินเก็บที่มี เปิดร้านโรตีร่วมกับแฟนสาว “ฮาซีนา” ที่โดนผลกระทบจากโควิดเช่นกัน เพราะทำงานในสายงานอีเวนท์ โดยใช้ชื่อร้านว่า “ร้านฮาซีนาโรตี” ตามชื่อแฟนนั่นเอง พัฒนาเมนูโรตีหน้าต่างๆ เช่น กล้วย ชีส นูเทลล่า และยังมีมะตะบะไก่-เนื้อ และชุดแกงไก่-เนื้อ รวมถึงเครื่องดื่มสารพัดอย่างให้บริการลูกค้าด้วย

ในช่วง 2 เดือนแรกที่เปิดร้านยอดดีมากจนน่าตกใจ หลังจากนั้นเริ่มอยู่ตัว และมีบางเดือนที่ขายไม่ดี ก็แก้ไขด้วยการพัฒนาเมนูใหม่เข้าไป และเข้าร่วมแอปฯ เดลิเวอรี่เพื่อเพิ่มช่องทางขาย โดยยังคงรักษาคุณภาพและราคาไม่ให้สูงเกินไป จนปัจจุบันนี้ร้านเริ่มอยู่ตัว มีกำไรวันละหลักพัน ถึงจะไม่สามารถใช้จ่ายสุรุยสุร่ายเหมือนตอนเป็นนักร้องแต่ก็อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน และยังคงรับงานร้องเพลง งานลงเสียงอยู่ตลอดเมื่อมีคนจ้าง
217274779_153217470241391_8145740215230336990_n.jpg 328.5 KB
คุณนัท ฝากข้อคิดถึงคนในสายงานอาชีพเดียวกันว่าตอนนี้ขยับทำอะไรได้ ให้ขยับทำก่อน ถึงจะไม่มีต้นทุนก็ตาม ลองเริ่มจากเอาเก็บที่เหลือมาทำทุน จะเท่าไหร่ก็ได้ ลุยเลย ลุกขี้นมาทำ แล้วเราจะรู้ได้เลยว่าอะไรเราไหว อะไรเราไม่ไหว ถ้าไหวให้ลุยเลย!โดยเฉพาะคนในวงการดนตรีหรือชาวออแกนไนซ์ อาจจะท้ออยู่นาน ขอให้เข้มแข็งอย่าท้อ อย่ารอ เราจะชินกับโควิดไปเอง เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ให้คิดเสมอว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

ครัวปลาดาวซีฟู้ด

อาชีพไกด์ทัวร์เป็นอีกอาชีพที่โดนผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตโควิด คุณกันต์พสิษฐ์ ดำรงสิทธินน เจ้าของร้าน “ครัวปลาดาวซีฟู้ด” เล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้เป็นไกด์ทัวร์อยู่ฝั่งอันดามัน มีนักท่องที่ยวเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชาวต่างชาติ พอโควิดมานักท่องเที่ยวต่างชาติหายหมด นักท่องเที่ยวไทยก็ไม่ค่อยมีเพราะเดินทางกันไม่ได้ ประกอบกับอาชีพไกด์เป็นอาชีพอิสระ เลยไม่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอีก ทั้งที่ไกด์เป็นอาชีพที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นเหมือนหน้าด่านการท่องเที่ยวไทย ตอนนั้นเลยชักไม่แน่ใจ ว่าชีวิตจะไปต่อยังไงดี
0010-02.jpg 881.47 KB
หันไปทางไหนร้านก็ปิดกันหมด เพราะนักท่องเที่ยวไม่มี ตัดสินใจพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ถ้าร้านอื่นปิด เราจะเปิด ทำสวนกระแสไปเลย และมาจับสังเกตได้ว่า ในตัวเมืองตรังไม่ค่อยมีร้านอาหารทะเลสดๆ ขาย ถ้าอยากกินอาหารทะเลสดๆ ต้องเดินทางไปไกลไปริมทะเล จึงเกิดเป็นร้าน “ครัวปลาดาวซีฟู้ด” ตามคอนเซปยกทะเลมาเสิร์ฟ ไม่ต้องไปถึงทะเล เอาของสดมาไว้ในเมือง อาศัยความชำนาญด้านซีฟู้ด และความเป็นลูกชาวเลเกาะลิบง ทำให้คุ้นเคยกับแหล่งหาวัตถุดิบอาหารทะเลเป็นอย่างดี
.
ตอนเปิดร้านใหม่ๆ ช่วงพฤษภาคม คนยังไม่กล้าออกมากินที่ร้าน เลยเพิ่มเดิลิเวอรี่เข้าไป เน้นการสร้างตัวตนในสื่อโซเชียล ขายไปเตรียมความพร้อมไป เพื่อรอโอกาสไฮซีวันช่วงเดือนตุลาคม ขายไป ขายมา เริ่มมีขาประจำ ตอนนี้จะปิดร้านก็ไม่ได้แล้ว รายได้พอสมควร แม้บางเดือนจะมีปริ่มๆ บ้าง แต่ก็เลี้ยงลูกน้องประคองร้านกันไปได้ และมีเงินเหลือเก็บ แต่สิ่งที่ได้จริงๆ คือประสบการณ์ และการมีชื่อให้ลูกค้าจดจำ เพื่อรอโอกาสใหม่ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายในอนาคต
012.jpg 776.34 KB
คุณกันต์พสิษฐ์ ฝากข้อคิดไว้ว่า การเป็นไกด์สอนให้อดทน อดกลั้น ผ่านศึกมาทุกอย่าง กดดันทุกอย่าง อดหลับ อดนอน คุณผ่านมันมาได้ จงใช้ทักษะที่มีในการพูดและการเจรจา ไกด์จะรู้จักสร้างจุดขายของตัวเอง และเรามี Service Mind ไกด์แบบเรารู้ดีว่าลูกค้าต้องการอะไร ดังนั้นลองคิดดูว่าถ้ามาทำธุรกิจของตัวเองเราจะไปได้ขนาดไหน ไกด์หลายคนขยับไปเป็นเจ้าของธุรกิจกันแล้ว เราต้องสู้ ถึงจะรอด อย่างร้าน “ครัวปลาดาวซีฟู้ด” ใช้จังหวะที่ร้านอื่นปิดหมด แต่ร้านเราเปิด ทำให้ร้านนี้เป็นจุดเด่นขี้นมา และชูจุดเด่นที่รับของสดๆ จากชาวประมงมาขาย และต้องใช้จังหวะนั้นทำการตลาดให้ดี ในอนาคตวางแผนจะมีกระชังเป็นของตัวเอง และทำฟาร์มอาหารทะเลต่อยอดธุรกิจอาหารทะเล 

The Frog Prince Aiyu Natural Jelly

อีกหนึ่งไกด์ทัวร์ที่ได้รับผลกระทบโควิดทำให้ทัวร์หายเช่นกัน จากเดิมมีนักท่องเที่ยวจากจีนและไต้หวันมาเที่ยวไทยปีละเป็นล้านคน พอตกงานไม่มีรายได้ ต้องหาอะไรทำ คุณอรรถพล แซ่จาง เล่าให้ฟังว่าสมัยที่ไปเรียนหนังสืออยู่ไต้หวันสิบกว่าปี ที่ไต้หวันมีของที่ขึ้นชื่อมากคือชาไต้หวันและวุ้นไข่กบ โดยมองว่าวุ้นไข่กบมีสรรพคุณดีต่อร่างกายมาก ช่วยเรื่องขับถ่าย ลดคอลเลสเตอรอล แก้ร้อนใน แก้กระหาย อุดมไปด้วยแมกนีเซียม น่าจะเหมาะกับเมืองไทยที่อากาศร้อน จึงสั่งนำเข้าเมล็ด “ไอยู” จากไต้หวันมาลองทำวุ้นไข่กบขายดู จากนั้นจึงคิดรสชาติชาขึ้นมาใหม่ ที่ประเทศไทยยังไม่มี คือชาหอมหมื่นลี้ และเปิดเป็นคีออสขาย ใช้ชื่อร้าน “The Frog Prince Aiyu Natural Jelly” โดยได้ชาคุณภาพดีเยี่ยม ไม่แต่งสีแต่งกลิ่นจากไร่ชา101 มาเป็นส่วนผสมหลัก เนื่องจากแฟนมาจากตระกูลที่ทำไร่ชา 101 อยู่แล้ว

ในไต้หวันวุ้นไข่กบขายดีมาก ทำมาจากผลไม้ชื่อไอยู เป็นผลไม้ตระกูลมะเดื่อ วิธีแปรรูปคือต้องผ่าเอาเมล็ดออกมาอบแห้ง จากนั้นห่อผ้าแล้วนวดในน้ำจะได้เมือกคอลลาเจนออกมา และจะเซ็ตตัวเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเติมอะไร สาวไต้หวันที่รักสวยรักงามมักจะใช้วุ้นไข่กบนี้ในการควบคุมอาหาร 
คุณอรรถพล ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ช่วงโควิดรอบแรกขายดีมาก ขายได้วันละร้อยกว่าแก้ว จนมีคนขอซื้อแฟรนไชส์ แม้ยอดขายเริ่มแผ่วลงเมื่อเจอโควิดรอบสองและรอบสาม แต่รายได้ยังคงไปได้อยู่ ในอนาคตจะเปิดขายแฟรนไชส์ รอสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ก่อน และวางแผนจะทำวุ้นไข่กบสำเร็จรูปวางขายด้วย
013.jpg 168.53 KB

สุดท้ายคุณอรรถพล ฝากข้อคิดเอาไว้ว่า ช่วงวิกฤติคือโอกาส ทุกอย่างมีทางออก อดทนสู้กับมัน ทุกอย่างจะดีขึ้น ปีนี้หนักที่สุดแล้ว เราต้องสู้ เพื่อครอบครัวที่ต้องเลี้ยง
Facebook : https://www.facebook.com/sikadeer958 

ขนมจีนหม้อดินคุณนาย

จากอาชีพขายของปิ้งย่างอยู่ในตลาดนัดราชพฤกษ์ จังหวัดพิษณุโลก พอเจอพิษโควิด คนเดินตลาดนัดน้อยลง แถมบางช่วงตลาดปิดห้ามขายของอีก บวกกับต้องหยุดขายของเพราะต้องมาดูแลคนที่บ้านด้วย ทำให้ คุณจอย-ชนนิกานต์ พิชิตพิริยกร และคุณชนันท์กานต์ พิชิตพิริยกร-พี่สาว ต้องกลับมาคิดกันว่าจะทำอะไรให้มีรายได้เข้ามาในช่วงสถานการณ์แบบนี้ สุดท้ายมาลงตัวที่ขนมจีนน้ำยา เพราะคุณอามีสูตรน้ำยาปักษ์ใต้ จึงเริ่มหัดทำน้ำยาปักษ์ใต้กับคุณอา และปรับปรุงสูตรเป็นของตัวเอง ลงทุนเช่าที่ร้านอาหารเก่าฝั่งตรงข้ามบ้านเปิดร้านขนมจีนน้ำยาหม้อดิน และตั้งชื่อร้านว่า “ขนมจีนหม้อดินคุณนาย” แถวสี่แยกดงประโดก ขายขนมจีนน้ำยาเป็นหลัก และเสริมทัพด้วยเมนู ข้าวซอย ยำขนมจีน และเมนูอื่นๆ

014.jpg 540.15 KB

เปิดร้านช่วงแรกยอดขายดีมาก เพราะมีสื่อช่วยโปรโมท และทำสื่อลงโซเชียลตลอด ร้านขายดีจนเริ่มวางแผนจะเปิดสาขาสอง แต่พอโดนโควิดรอบสอง ต้องหยุดขายไปสองเดือน พอกลับมาเปิดขายใหม่ยอดขายก็หายไปเกินครึ่ง ยอดเดลิเวอรี่ก็น้อยลงด้วยเพราะร้านอยู่ไกลค่าส่งแพง เลยตัดสินใจย้ายร้าน ยกเลิกสัญญาเช่า ข้ามฝั่งกลับมาปรับปรุงหน้าบ้านที่เป็นอู่ซ่อมรถ เปิดเป็นร้านขนมจีนต่อจนถึงปัจจุบัน
017.jpg 1.22 MB
คุณจอยเล่าว่า จนถึงตอนนี้ถือว่าร้านเดินมาได้ครึ่งนึงแล้ว โอเคกว่าแต่ก่อนเยอะ หลังจากคลายล็อคเริ่มมีคนนั่งกินเยอะขึ้น ค่อยๆ ฟื้นตัวทีละนิด ถ้าไม่มีโควิดระลอกสองคงได้เปิดสาขาเพิ่มและไปได้ไกลกว่านี้ แต่ก็ไม่ท้อ ต้องสู้ต่อไป เราเลือกจะไปต่อด้วยการย้ายที่ขายมาขายหน้าบ้าน ลดขนาดธุรกิจลง ก็ไปได้เรื่อยๆ ค่อยๆทำ ค่อยๆ ขยายร้านไป ไม่จ้างลูกจ้างเพิ่มทำเป็นธุรกิจครอบครัวไปก่อน สุดท้ายอยากฝากถึงทุกคนว่า อยากให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้งนึง และการ์ดไม่ตกแต่ก็ต้องทำงาน อยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง ทุกวันนี้ต้องอยู่ให้ได้ มีรัฐช่วยเหลือบ้าง แต่ก็ต้องเอาตัวรอด เป็นกำลังใจให้ทุกคน เพราะเราก็เป็นคนนึงที่ค้าขายเหมือนกัน แต่ว่าเราไม่ยอมแพ้

Non Coffee Moka Pot & Burger Home Made

187280844_115255264053108_3169904796818093056_n.jpg 144.83 KB
สองหนุ่มคู่ซื้ คุณนนท์และคุณต้อม เจ้าของร้าน Non Coffee Moka Pot & Burger Home Made จังหวัดอ่างทอง เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนคุณนนท์ เป็นช่างเชื่อม เนื่องจากคุณพ่อรับเหมาเป็นช่างเชื่อมต่อเรือ พอมีโควิดก็ไม่มีงานเข้ามาเลย จำเป็นต้องหาอะไรทำ และเนื่องจากตัวเองเป็นคนที่ชอบกินกาแฟอยู่แล้ว เลยเปิดร้านกาแฟ Moka Pot  ขายทั้งกาแฟ ชา โกโก้ และเครื่องดื่มชงสูตรต่างๆ 
ในขณะที่คุณต้อมเป็นลูกจ้างร้านกาแฟ ที่ต้องตกงานเพราะโควิดเช่นกัน เพราะร้านกาแฟโดปิด พอเห็นนนท์เปิดร้านกาแฟอยู่เลยมาปรึกษากันว่าจะทำอะไรมาขายด้วยกันดี สุดท้ายมาลงตัวที่เบอร์เกอร์ เนื่องจากได้รับเตาตัวเก่ามาจากญาติที่กรุงเทพฯ พอเอาเตามาทำใหม่ให้ดีขึ้นแล้ว นนท์เกิดไอเดียว่า น่าจะทำเบอร์เกอร์ขาย จากเดิมไม่เคยคิดจะทำอาหารขายเลย ต้องเปิดหาสูตรจากในเว็บ จากยูทูป มาลองทำและลองปรับสูตรอยู่ประมาณสองสัปดาห์ จนเจอสูตรเป็นของตัวเอง ก็เริ่มขายเบอร์เกอร์คู่กับร้านกาแฟไป โดยเปิดขายเฉพาะหน้าร้าน หรือสั่งได้ตามช่องทางติดต่อแล้วค่อยแวะมารับที่หน้าร้าน ยังไม่ขายแบบเดลิเวอรี่เพราะยังไม่มีเดลิเวอรี่เจ้าไหนเข้าถึง
017.jpg 1.22 MB
เปิดร้านใหม่ๆ ยอดขายยังไม่ดีเท่าไหร่ เพราะยังไม่มีคนรู้จักมานัก พอได้เริ่มโปรโมทของสื่อโซเชียล ลงกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มซื้อ-ขายของกินจังหวัดอ่างทอง ทำให้ยอดขายดีขึ้นเรื่อย จนทำไม่ทัน ต้องซื้อเตาทอดเบอร์เกอร์ใหม่ รวมทั้งกาแฟที่ขายดีควบคู่กันไป ปัจจุบันมองว่า ร้านยังไม่เข้าที่ ช่วงที่มี Lock Down ก็จะแย่หน่อย แต่ยอดขายก็ไปได้เรื่อยๆ ยังต้องปรับปรุงร้านอีก กำลังทำร้านแบบมีที่นั่งกิน และปรับปรุงการขายในอนาคต 

คุณคุณนนท์และคุณต้อม ฝากทิ้งท้ายถึงคนที่จะลุกขึ้นมาขายอาหารว่า แม้ช่วงนี้จะลำบาก คนตกงานเยอะ การเริ่มทำอะไรมันยาก แต่ก็ต้องสู้กันไป มีอะไรก็ต้องทำไว้ก่อน เอาสิ่งที่ชอบมาทำ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย อาจจะเจอสิ่งที่ใช่ก็ได้

ร้านต้นโพธิ์ by เชฟวรรณ โควิด-19

013.jpg 168.53 KB
จากเชฟอาหารจีนในร้านอาหารชื่อดังจังหวัดเชียงใหม่มีรายได้สองหมื่นกว่า พอโควิดเข้ามานักท่องเที่ยวจีนหาย ร้านทนแบกภาระไม่ไหว ขอลดเงินเดือนลงมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายจ้างไม่ไหว เลยต้องออกจากงานในเดือนมีนาคม 2563 เชฟวรรณ-ศรีวรรณ สุขสบาย เล่าให้ฟังว่า ออกมาแล้วยังไม่ได้คิดจะทำอะไร เพราะไม่เคยตกงาน ไม่เคยคิดจะเข็นรถขายอาหารเพราะอาย เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 1 เดือน แต่พอมายืนรอข้าวที่เค้าแจกแถวยาวเป็นกิโล ยิ่งรู้สึกอายมากกว่า 

สุดท้ายมาคิดได้ว่า ยังไงเราก็ต้องสู้ เรามีภาระต้องรับผิดชอบ ไหนจะลูก ไหนจะหลาน ต้องส่งรถ ส่งบ้าน ถึงจะได้เงินน้อย ก็ยังดีกว่าไปยืนรอรับข้าวแจก ถ้าไม่ดิ้นรนก็ไม่เห็นอนาคตอะไร ดังนั้นพอได้เงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท ก็เอาไปซื้อรถเข็นมือสอง เอามาซ่อมและแต่ง แล้วก็เริ่มขายอาหารเลย ขายอาหารตามสั่งแค่สามอย่าง มีคะน้าหมูกรอบ ข้าวผัด และผัดกระเพราหมู ใส่กล่องราคา 25-30 บาท ตอนแรกก็อายหน่อย เพราะไม่เคยตกงาน ไม่เคยเข็นรถเข็นขายด้วย
019.jpg 519.87 KB
วันแรกเข็นไปที่ตลาดเมืองใหม่ ผลลัพธ์กลับดี! คนมาซื้อเยอะ จนทำไม่ทัน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค เพราะมีคนไปแจ้งเทศกิจว่าทำเลอะ ทำให้โดนเทศกิจไล่ แต่ตอนหลังทางนายก อบต.ได้มาแจ้งเทศกิจว่าอนุญาตให้ขายได้ เพราะเป็นการช่วยเหลือคนที่ตกงานในช่วงโควิดนี้ แรกๆ ขายคนเดียว ทำไม่ทัน หลังๆ มีลูกสาวมาช่วยบ้างก็ดีขึ้น ขายเฉพาะช่วงเย็น 17.00 - 21.00 น. ช่วงกลางวันก็เตรียมของไป ยอดขายพันกว่าบาทต่อวัน ถือว่าเป็นรายได้พอไปได้ในแต่ละเดือน หลังๆ คิวเริ่มยาวมากต้องแจกบัตรคิว เริ่มมีนักข่าวมาทำข่าว ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น ปัจจุบันขยายธุรกิจเป็นร้านต้นโพธิ์ by เชฟวรรณ โควิด-19 ขายอาหารเดลิเวอรี่ด้วย

เชฟวรรณ ยังฝากถึงทุกคนว่า เราต้องดิ้นรนเพื่อปากท้อง ต้องสู้ ในเมื่อเรามีวิชาติดตัว ไม่ต้องกลัวอด เหมือนกับขายกับขายนี่ไง เพราะคนเราต้องกินข้าว เราจะยึดงานด้านเดียวไม่ได้ ต้องปรับไปตามสถานการณ์ โควิดแบบนี้ถ้าเราไม่ช่วยตัวเองใครจะมาช่วยเรา 
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
บะหมี่จินหู่ข้าวแกงกินเก่งสเต็กฅนกางแจ้งร่มมังคุดฮาซีนาโรตีปลาดาวซีฟู้ดขนมจีนหม้อดินคุณนายร้านต้นโพธิ์ร้านอาหาร

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด