ชวนวิเคราะห์ “Robinhood” แอพฯ บริการส่งอาหารน้องใหม่มาแรง เหมาะกับร้านอาหารเราหรือไม่

01 ก.ค. 2563
เปิดตัวได้อย่างฮือฮาสร้างกระแสสั่นสะเทือนไปทั้งวงการธุรกิจร้านอาหารสำหรับแอพฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่น้องใหม่จากค่าย SCB ที่มีชื่อว่า “Robinhood” โดยเฉพาะการชูจุดขายของแอพฯ ด้วยการไม่เก็บค่า GP ซึ่งเป็น Pain Point ระหว่างร้านอาหารและแอพฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าตลาดในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจทันทีที่ “Robinhood” เปิดตัวและประกาศไม่เก็บค่า GP จึงเกิดกระแสบวกจากฝั่งผู้ประกอบการร้านอาหารตามมา ดังนั้น มาชวนวิเคราะห์กันหน่อยว่า “Robinhood” มีข้อน่าสนใจอะไรบ้าง และเหมาะกับร้านอาหารประเภทไหน 
  • “Robinhood” ผู้ใจดี ฟรี และจ่ายเร็ว
  • เตรียมเปิดทดลองให้บริการ ก.ค. จัดเต็ม ส.ค. เป็นต้นไป
  • จับมือ Skootar เปิดพื้นที่ให้บริการเริ่มต้นพื้นที่ กทม. และปริมณฑล 
  • ประกาศชัดไม่ร่วมทำสงครามโปรฯ ค่าส่ง
  • บทสรุป
“Robinhood” ผู้ใจดี ฟรี และจ่ายเร็ว
จุดเริ่มต้น 
“Robinhood” ว่ากันว่าเกิดมาจากช่วงโควิด คุณอาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCB ต้องใช้ชีวิต Work From Home เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ และได้ใช้บริการสั่งอาหารผ่านแอพฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ทำให้ได้รู้จุดปัญหาของร้านอาหารมีต่อผู้ให้บริการแอพฯ เช่น ปัญหาการเก็บค่าธรรมเนียม หรือ GP 30-35% ซึ่งในมุมผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะ SME เป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่สูงกระทบต่อกำไรโดยตรง และอีกหนึ่งปัญหาคือ ระยะเวลาในการจ่ายเงินค่าออเดอร์ให้กับร้านอาหารที่ปัจจุบันแต่ละแอพฯ มีช่วงเวลาค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับความจำเป็นในการหมุนกระแสเงินสดของธุรกิจ SME ทำให้คุณอาทิตย์เกิดความคิดในการผลิตแพลทฟอร์มที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการขึ้นมา จึงเกิดเป็น “Robinhood” แอพฯ น้องใหม่ภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ โดยสัดส่วนการถือหุ้น SCB ถือหุ้น เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ทั้ง 100% และได้มือดีมาเป็นผู้บริหารคือคุณธนา เธียรอัจฉริยะ ชูจุดขาย ดังนี้ 
  • ไม่เก็บค่า GP
  • สมัครฟรี
  • ออเดอร์สำเร็จ ร้านอาหารได้รับเงินภายใน 1 ชม.
  • เข้าถึงบริการต่าง ๆ ของ SCB ได้สะดวก
เตรียมเปิดทดลองให้บริการ ก.ค. จัดเต็ม ส.ค. เป็นต้นไปหลังประกาศเปิดตัว 
“Robinhood” SCB ก็ระดมทีมงานเกือบ 100 คน เพื่อพัฒนาแอพฯ ตัวนี้ให้ครบเครื่อง สมบูรณ์มากที่สุด และเตรียมเปิดให้บริการแบบไม่เป็นทางการปลายเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อทดสอบระบบต่าง ๆ ก่อนที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในเดือนสิงหาคม โดยในระหว่างนี้มีการเปิดรับสมัครร้านค้าเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้แล้ว 
จับมือ Skootar เปิดพื้นที่ให้บริการเริ่มต้นพื้นที่ กทม. และปริมณฑล 
          ในส่วนของการขนส่งหรือไรเดอร์ ทาง SCB ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ Skootar หนึ่งในสตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการส่งเอกสารในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่ง Skootar มีคนขับในสังกัดประมาณ 10,000 ราย แม้จะไม่เคยให้บริการด้านขนส่งฟู้ดมาก่อน แต่ด้วยประสบการณ์และระบบพื้นฐานต่าง ๆ ที่ Skootar มีอยู่รวมถึงที่จะพัฒนาร่วมกับ SCB เพื่อขับเคลื่อน “Robinhood” ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่จะลงสนามนี้ จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในช่วงแรกเพราะ Skootar ไม่มีเครือข่ายให้บริการทั่วประเทศ แต่ระดับ SCB ถ้าจริงจังก็คงไม่หยุดอยู่แค่พื้นที่ กทม. และปริมณฑลเท่านั้น เป้าหมายให้บริการทั่วประเทศคงตามมาภายในไม่ช้า 
ประกาศชัดไม่ร่วมทำสงครามโปรฯ ค่าส่ง
มีหลายคนจับตาดูว่า แบงค์ใหญ่อย่าง SCB ลงมาเล่นตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่จะก่อให้เกิดสงครามโปรโมชั่นลดราคาค่าส่งเพื่อแข่งขันกับเจ้าตลาดหรือไม่ คำตอบที่ออกมาจากฝ่ายผู้บริหาร SCB มีความชัดเจนว่า จะไม่ลงไปแข่งขันลดราคาค่าส่งอย่างแน่นอน เพราะไม่ได้เป็นผลดีต่อระบบตลาด แต่สิ่งที่ “Robinhood” จะทำคือ ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฝั่งร้านอาหารอยู่รอดในตลาดเดลิเวอรี่โดยที่เขาไม่ต้องลดคุณภาพ หรือลดปริมาณอาหาร ลูกค้าได้รับสินค้าในคุณภาพ และปริมาณเช่นเดียวกับการรับประทานที่ร้าน เป็นทางเลือกให้กับลูกค้า 
แล้วอะไรคือจุดขายดึงคนมาใช้บริการสั่งอาหารกับ “Robinhood” 
          เมื่อไม่แข่งขันทำโปรฯ จูงใจผู้บริโภคคนสั่งอาหาร จึงเป็นคำถามให้ต้องคิดตามมาว่า แล้วจะถูกใจคนใช้บริการฝั่งผู้บริโภคได้เหรอ ในเมื่อเวลานี้ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ต้องยอมรับความจริงว่า ลูกค้าเสพติดการ Subsidize ค่าส่งไปแล้ว อย่าลืมว่าในยุคแอพฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่งเกิดก็ใช้โมเดลให้ผู้สั่งออกค่าส่ง จนกระทั่งเกิดการแข่งขันเข้ามาและมีการปรับโมเดลธุรกิจมาเป็นให้ร้านค้าเป็นฝ่าย Subsidize ค่าส่งซึ่งเป็นที่มาของค่า GP จนทำให้โมเดลให้ผู้สั่งออกค่าส่งแทบจะตายไป แต่ดูเหมือน “Robinhood” เลือกที่จะกลับไปใช้สูตรดั่งเดิมคือให้ผู้สั่งออกค่าส่ง จึงเป็นคำถามตัวโต ๆ ว่า แล้วจะโอเหรอ แนวทางที่หนึ่งที่ “Robinhood” อาจเลือกมาใช้ก็คือ ชวนให้ร้านเป็นผู้ Subsidize ค่าส่ง โดยในเมื่อไม่ต้องเสียค่า GP แล้ว ก็เอารายจ่ายส่วนนั้นมาเป็นค่าส่งส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้ผู้สั่งต้องเสียค่าส่งเต็ม ๆ แทนที่ของเดิมใช้แอพฯ อื่นโดน 30-35% ก็จัดโปรฯ ช่วยค่าส่งไม่ต้องถึง 30% ร้านเองก็ยังเหลือกำไร 
บทสรุป การเปิดตัว 
“Robinhood” ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อวงการธุรกิจร้านอาหาร แม้ในแง่การแข่งขันกับเจ้าตลาดเราอาจจะไม่ได้เห็นการห้ำหั่นกันดุเดือด แต่ในมุมผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยข้อเสนอที่เปิดตัวมาก็พร้อมเทใจไปให้กับ “Robinhood” ถามว่าร้านประเภทไหนบ้างที่เหมาะเข้าร่วม คำตอบคือได้หมด เพียงแต่จุดที่ต้องตั้งคำถามเผื่อไว้ก็คือ 
  1. พื้นที่การส่งยังมีจำกัดในระยะแรก ครอบคลุมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลบางส่วน
  2. ด้วยโมเดลไม่เก็บ GP ทำให้ไม่มีการ Subsidize ค่าส่ง จะเป็นโจทย์ยากสำหรับการใช้บริการของฝั่งลูกค้าคนสั่งอาหารหรือไม่
ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยข้อมูลเท่าที่มีออกมา ณ เวลานี้ก็ต้องบอกว่า ยังไม่ได้เห็นรายละเอียดโมเดลธุรกิจของ “Robinhood” บทวิเคราะห์นี้ก็เป็นเพียงมุมคิดตามข้อมูลที่มี แต่เชื่อเถอะว่า ระดับแบงค์ถ้าคิดจะลงทุนทำอะไรสักอย่างคงไม่ใช่เป็นแค่เรื่องทำเอามันส์ ทำเอาใจอย่างแน่นอน เพราะทุกเม็ดเงินที่ลงทุนไปต้องตอบคำถามของนักลงทุน ผู้ถือหุ้นได้ด้วยว่า ทำไปเพื่ออะไร ดังนั้น งานนี้จับตาดูกันต่อไปว่า “Robinhood” จะเป็นจอมโจรผู้ใจดีจริงหรือไม่ สำหรับร้านอาหารที่สนใจสมัคร “Robinhood” สมัครได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ สาขา SCB, onboard.robinhood.in.th และ คอลเซ็นเตอร์ 02-777-7564 เครดิตรูปภาพจาก : SCB และ SKOOTAR คลิกอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่ 
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
การตลาดเพื่อธุรกิจร้านอาหารRobinhoodSCBfood delivery

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด