นำร้านอาหารเข้า Delivery คุ้มค่า GP หรือไม่?

May 17, 2020
คำถามสำคัญสำหรับคนทำร้านอาหาร ณ ปัจจุบันนี้คือ “มีบริการเดลิเวอรี่หรือยัง” ถ้าคำตอบคือ “ยัง” เราอยากจะเตือนจากใจว่า “ธุรกิจของท่านกำลังอยู่ในความเสี่ยง” เพราะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เดลิเวอรี่จะเป็นหนึ่งในบริการหลักที่ลูกค้าใช้ในการตัดสินใจเลือก หรือ จะกลายเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญที่สร้างยอดขายให้กับร้าน แต่ก็อาจจะมีประเด็นคำถามตามมาว่า การทำเดลิเวอรี่แบบที่ลูกค้านิยมใช้บริการคือ สั่งผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ มันได้กำไรจริงหรือ เพราะร้านต้องเสียค่า GP สูงระดับ 30% แล้วร้านจะเหลืออะไร เรามีแนวทางดี ๆ มาแนะนำ ถึงวันนี้เชื่อว่า ร้านอาหารส่วนใหญ่รู้จักคำว่า “เดลิเวอรี่” กันอย่างดีแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ร้านอาหารเกือบทั่วประเทศถูกสั่งห้ามจำหน่ายแบบนั่งรับประทานในร้าน ขายได้แต่นำกลับไปรับประทานที่อื่น ยิ่งทำให้ทางเลือกการขายมีจำกัด ส่งผลให้ตลาดเดลิเวอรี่กลายเป็นช่องทางหลักในการสร้างยอดขายให้กับร้านอาหารไม่ว่าจะร้านแบรนด์ใหญ่ กลาง เล็ก ทุกร้านต้องมีเดลิเวอรี่
และช่องทางในการเชื่อมต่อลูกค้ากับร้านอาหารให้มาพบรู้จักกัน เกิดโอกาสการขายที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็ยังคงเป็นแพลทฟอร์ม หรือแอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่ แบรนด์ดัง ๆ เจ้าตลาด 3-4 เจ้า เมื่อลูกค้าส่วนใหญ่ติดอยู่กับการใช้บริการแอพพลิเคชั่นเหล่านั้น ร้านอาหารก็เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในแอพพลิเคชั่นเพื่อเพิ่มโอกาสการขาย แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ส่วนที่ร้านต้องเสียให้กับแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า Gross Profit (GP) หรือส่วนแบ่งจากการขายในอัตราปัจจุบันที่แต่ละแอพพลิเคชั่นเก็บอยู่นั้น ร้านแทบไม่เหลือกำไรแล้วจะทำอย่างไรดี?
ข้อดีของการเข้าร่วมกับแอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่ มาดูข้อดีของการเอาร้าน เอาเมนูไปอยู่ในแอพพลิเคชั่น หรือ แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเอวรี่กันหน่อย ใช่ว่าจะมองแต่ไม่ดี แถมมีดีอยู่เยอะด้วย โดยเฉพาะโอกาสจากฐานคนติดตามแอพพลิเคชั่นนั้น ๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า แต่ละแอพฯ ก็มีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มจำนวนคนติดตาม คนมาใช้บริการสั่งอาหารผ่านแอพฯ นั่นแหละคือกลุ่มที่ว่า 
ฐานลูกค้าสำคัญ เมื่อเราเข้าไปอยู่ในแอพฯ เหล่านั้น โอกาสที่ร้านเราจะถูกพบเห็น รู้จัก และถูกเลือกก็มีเพิ่มขึ้น เหมือนมีคนค่อยทำการตลาดสร้างทราฟฟิคมาให้เราต่อเนื่อง แน่นอนว่าหากต้องการให้ร้านเราขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งทำเลที่ดีที่สุดของแอพฯ ก็ต้องมีการจ่ายค่าบริการเสริม ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเรื่องปกติของทำเลค้าขาย อยากได้ทำเลดีก็ต้องมีราคาสูง เพราะแอพฯ เหล่านี้ก็เปรียบเสมือนทำเลนั่นเอง
ยัง ยังไม่หมด ข้อดีของแอพฯ เหล่านี้อีกข้อสำคัญเลยก็คือ เขามีระบบจัดการที่สร้างความสะดวกทั้งฝั่งลูกค้าผู้สั่ง และฝั่งร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่ง ชำระเงิน จัดการเมนู ระบบเหล่านี้มีต้นทุนที่สูงมากหากเราจะพัฒนาขึ้นเอง แต่ก็ใช่ว่าเขาจะใจดีให้เราใช้ฟรี ๆ เพราะเขาก็ต้องมีงบประมาณไปพัฒนาระบบพวกนี้ต่อเนื่องเช่นกัน นั่นจึงเป็นที่มาของค่า GP ส่วนเจ้าไหนจะเก็บเท่าไหร่ เพราะอะไรขอละไว้ก่อน ไปดูกันว่า แล้วร้านจะต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อเข้าไปอยู่ในแอพฯ โดนค่าGP แล้วยังมีกำไร 
แนวทางปรับตัวเมื่อต้องพึ่งแพลตฟอร์ม สู้อย่างไรให้ชนะ GP คำแนะนำหากต้องเข้ารวมแอพฯ เหล่านี้ สิ่งแรกคือ 
  1. ให้ทางร้านคิดเมนูใหม่ขึ้นมา โดยทำต้นทุนใหม่รองรับค่าGP 20-35% ที่ถูกเรียกเก็บเข้าไปในต้นทุนอาหารต่อจานด้วย เพื่อให้การตั้งราคาขายนั้น มีกำไรเหลือมากขึ้นนั้นเอง ยกตัวอย่าง การคำนวณต้นทุนอาหารรองรับการถูกหัก GP
ข้อที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงในกรณีตั้งราคาแบบบวก GP คือ มูลค่าเมนูกับคุณภาพเมนูไปกันได้ไหม ราคาแพงขึ้นแต่หน้าตาเมนูหรือวัตถุดิบที่ใช้ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแพงเกินไปหรือไม่ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของทีมเชฟในการครีเอทเมนูให้ดูคุ้มค่ากับราคาด้วย หรือ อีกแนวทางหากร้านไม่ต้องการขึ้นราคาเพราะกลัวกระทบยอดขาย ก็ต้องเลือกปรับลดปริมาณอาหารลง โดยยังคงคุณภาพเหมือนเดิม ทั้ง 2 วิธีเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ก็เป็นสิ่งต้องทำหากร้านต้องการมีกำไรหลังจากถูกหักค่า GP
2. ทำเดลิเวอรี่เอง ใช้พนักงานของร้านที่มีความพร้อมเป็นไรเดอร์สวมบทพนักงานส่งอาหารให้กับลูกค้าในรัศมี 5-10 กิโลเมตร โดยอาจแจ้งลูกค้าทราบว่า ในระยะไม่เกิน 3 กิโลเมตรร้านส่งให้ฟรี เกินจากนั้นไปมีค่าส่งกิโลเมตรละ 5-7 บาท วิธีนี้จะช่วยให้ร้านไม่โดนค่าGP แน่นอน โดยร้านสามารถทำควบคู่กันไปทั้ง 2 วิธี แต่ไม่ว่าอย่างไร “เดลิเวอรี่” ก็เป็นสิ่งต้องทำไม่ว่าจะ ณ ตอนนี้ หรือจากนี้ไปก็ตาม ถ้าร้านของเราเข้าระบบแอพฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่แล้ว อย่าลืมบอกให้ลูกค้ารู้ เช่น แปะป้ายบอกลูกค้าหรือใช้สัญลักษณ์แอพฯ ที่เราเข้าร่วมด้วยแปะหน้าร้าน, บอกลูกค้าผ่านเพจเฟสบุ๊คร้าน เป็นต้น
ส่วนใครที่อยากเรียนรู้วิธีการโปรโมทร้านอาหารผ่านออนไลน์ ทั้งการยิงโฆษณาใน Facebook ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย,ใช้ line@ เพิ่มยอดขาย, ปักหมุดแผนที่ร้าน ให้ลูกค้าหาเราเจอได้ง่ายใน Google ด้วย Google My Business พร้อมแนะนำ Application Food Delivery ที่ร้านอาหารควรต้องมีเพิ่มเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น สามารถเรียนรู้ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ สมัครฟรี เรียนฟรีได้ที่นี่ ขอขอบคุณรูปภาพจากเพจ Facebook : Grab Food คลิกอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่
Explore more topics
แอพขายอาหารออนไลน์แอพสั่งอาหารApp Food Deliveryการจัดการร้านอาหาร

Keep reading

Get inspired by content for restaurants.

View All Articles
What categories interest you?