เคลียร์หนี้! กู้เงิน! หาเงินทุนหมุนเวียน! วางระบบการเงินอย่างไรดีเพื่อฟื้นฟูร้านอาหาร

15 ก.ค. 2563
ภายหลังที่มีการผ่อนปรนมาตรการเกี่ยวกับการควบคุม COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจเริ่มที่จะกลับมาฟื้นฟูตัวเองอีกครั้ง หลังจากได้รับผลกระทบ ซึ่งมากน้อยแตกต่างกันไป ร้านอาหารก็เช่นกัน หน้าร้านรวงต่างเปิดประตูต้อนรับลูกค้า ภายหลังที่มีการผ่อนปรนมาตรการเกี่ยวกับการควบคุม COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจเริ่มที่จะกลับมาฟื้นฟูตัวเองอีกครั้ง เชื่อว่าหนึ่งในเรื่องหนักอกหนักใจคงจะหนีไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ คงจะดีไม่น้อยหากมีกูรูผู้รู้มาแนะนำแนวทาง ในการจัดระบบ ปรับสูตรการบริหารจัดการเงินให้เข้าที่เข้าทาง โค้ชหนุ่ม - จักรพงษ์ เมษพันธุ์  หรือ หนุ่ม Money Coach กูรูผู้คว่ำหวอดในแวดวงการเงิน จะมาแบ่งปันแนวคิด และเทคนิคในการบริหารจัดการ ทั้งเงินทุนหมุนเวียน หนี้สิน ไปจนถึงการขอสินเชื่อ เพื่อให้คนทำร้านอาหารเอาพลิกฟื้นตัวเองให้รอดจากช่วงเวลานี้ต่อไปในระยะยาว 
หัวใจการบริหารการเงินที่คนทำร้านอาหารต้องรู้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารหรือธุรกิจใดก็ตาม ‘เงินทุนหมุนเวียน’ หรือ ‘
Cast Flow’ คือหัวใจสำคัญ เป็นสิ่งที่ โค้ชหนุ่ม กล่าวถึงเป็นอันดับแรกที่ต้องพิจารณาในการบริหารจัดการเงินในช่วงธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ดังนั้นจึงอยากจะชวนทุกธุรกิจคิดเรื่องนี้กันจริงจัง โค้ชหนุ่ม อธิบายว่า เวลาทำธุรกิจ ทุกคนก็มองไปที่กำไร แต่เวลาบริหารจัดการ ต้องมองไปที่หัวใจสำคัญคือ เงินทุนหมุนเวียน ต้องถามตัวเองว่าอะไรที่ทำให้ธุรกิจหยุดได้ ไม่ใช่การขาดทุน แต่เป็นการขาดเงินทุนหมุนเวียน ถึงแม้ว่าจะขาดทุน แต่ก็ยังสามารถที่ทำธุรกิจต่อไปถ้ามีเงินสดอยู่ในมือ เงินทุนหมุนเวียนนั้นมีหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น กำไร เงินกู้ กระทั่งการนำเงินที่ลูกค้าชำระล่วงหน้ามาหมุนเวียนก่อนอย่างเช่น ธุรกิจสินค้าประเภทพรีออเดอร์ เป็นต้น ฉะนั้นหลักคิดแรก เงินหมุนเวียนคือเป้าหมายอันดับ 1 ที่จะต้องดู และต้องหล่อเลี้ยงให้ได้ตลอดเวลา ซึ่งคนที่ทำธุรกิจแล้วรอด คือคนที่มองไปข้างหน้าเสมอว่า 6-12 เดือนต่อจากนี้จะมีเงินหมุนเวียนไหม และถ้าให้ดี เงินทุนหมุนเวียนต้องเป็นเงินหมุนเวียนจากกำไร ซึ่งนั่นจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้จริง 
ควรจะมีวิธีบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างไรสิ่งที่ชวนให้คิดตามต่อท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ คือหากร้านอาหารร้านใดมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในมือ แล้วควรจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไรดี ประเด็นข้างต้นนั้น โค้ชหนุ่มได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า ช่วงระยะเวลาแบบนี้ควรจะต้องพยายาม เก็บเงินสดไว้กับตัวให้นานที่สุด แล้วเรียงลำดับความสำคัญให้ดี ‘จ่ายให้กับสิ่งสำคัญ’ ที่ต้องมาใช้ในการหมุนเวียนจริงๆ อย่างเช่น วัตถุดิบ ลูกน้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ดำเนินกิจการไปได้ ถ้าเป็นเรื่องอื่นๆ อยากให้ดึงเงินไว้ก่อน ใช้การเจรจา อย่างเช่น เจ้าหนี้การค้า พวกวัสดุอุปกรณ์ พวกค่าเช่า ถ้าเจรจากับเขาได้ก็ลองเจรจาดู ขอดึงหน่อย มีเครดิตในการจ่ายหน่อย ส่วนเรื่องการตลาดต้องดูให้ดี ว่าจ่ายไปจะคุ้มหรือไม่ “ตอนนี้ควรจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนสัก 6 เดือน เพราะดูแล้วสถานการณ์ มีโอกาสจะยาวไปถึงสิ้นปีได้ ฉะนั้นถ้าจะเติมเงินสดเข้ามาหมุนเวียนกิจการ อาจจะต้องมองว่าอยู่ให้ได้ 6 เดือน แต่ถ้าไม่ไหวหรือมองว่าธุรกิจยังพอขายไปได้ อาจจะเติมไว้สัก 3 เดือนก็พอ แต่คงจะเหนื่อยอยู่  แล้วต้องคิดว่าอะไรที่จะทำให้ได้เงินทุนกลับมาเร็ว เช่น รูปแบบสินค้าใหม่ๆ เมนูอาหารใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ” 
วางระบบการเงินใหม่เพื่อฟื้นฟูกิจการ หลังจากการเข้ามาของ COVID-19 ทำให้วันนี้หลายธุรกิจต้องตกที่นั่งลำบาก ฉะนั้นแล้วหากหวังที่จะฟื้นฟูธุรกิจขึ้นมาให้เดินต่อไปได้ โค้ชหนุ่มจึงชวนให้ย้อนกลับมาสำรวจกิจการของตัวเองใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะด้านการเงิน ซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักที่จะทำให้ธุรกิจรอดหรือไม่ โดยมี 2 สิ่งที่ควรที่ต้องไล่เรียงดูดังนี้ 
  1. สภาพคล่อง ที่ต้องดูคือภาระค่าใช้จ่าย ว่าปัจจุบันมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งในมุมของการเงินนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน
- ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินงานต่างๆ การทำธุรกิจมีภาระค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าร้าน ค่าวัตถุดิบ เป็นต้น เชื่อว่าผู้ประกอบการทราบเป็นอย่างดีว่ามีอะไรบ้างที่ต้องลด แต่อย่างหนึ่งชวนให้นึกถึง เป็นอันดับแรกที่อย่าเพิ่งไปลดคือ คน  เพราะว่าคนค่อนข้างที่จะหายากในเวลาฟื้นฟูกิจการ         - ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากต้นทุนเงินทุน หรือหนี้ ซึ่งอยากจะให้เน้นมากๆ ช่วงนี้ผู้ประกอบการต้องขยันวิ่งเข้าหาเจ้าหนี้ เพื่อเข้าไปเจรจา ส่วนของหนี้ทำให้เราเบาได้ทันที (คำแนะนำเรื่องการจัดการหนี้อยู่ในข้อถัดไป) 
  1. ดึงเงินสดเข้ามา คาถาที่ควรท่องจำไว้ก่อนคือ อย่าเพิ่งไปกู้ ใจเย็นๆ ธุรกิจยังไม่ดี ไปกู้แล้วเดี๋ยวจะยิ่งพังไปกันใหญ่ อาจจะหาแนวทางใกล้เคียงแล้วปรับเปลี่ยน เช่น แทนที่จะขายรายย่อย บางแห่งเริ่มผูกการบริการกับบริษัท ทำให้มียอดขายทีละจำนวนมาก รวมถึงมีบริการเดลิเวอรี่ ออกเมนูใหม่ที่เหมาะสมต่างๆ เพื่อให้มีเงินสดเข้ามา ซึ่งหัวใจสำคัญคือ ต้องเอาทรัพยากรที่มีมาปรับการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บางร้านให้พนักงานต้อนรับมาขับรถเดลิเวอรี่ ช่วงนี้อาจจะต้องแปรสภาพหมดเลย ต้องทำด้านอื่นๆ ประกอบไปด้วย
นอกจากนั้น ต้องทำประมาณการล่วงหน้า 6-12 เดือน เพื่อให้เห็นสถานการณ์ของตนเอง และตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือนว่า เป็นไปตามแผนหรือไม่ โดยจะต้องทำด้วยความละเอียด รอบคอบ และมีวินัย

มองหาสินเชื่อเพื่อเป็นตัวเลือกกู้วิกฤติการเงินอย่างไรดี
ถ้าลดรายจ่ายก็แล้ว หารายได้เพิ่มก็แล้ว แต่ก็ยังไปไม่ไหว และยังเชื่อว่ามั่นว่าธุรกิจยังมีอนาคต สุดท้ายอาจจะต้องเข้าไปอยู่ในระบบสินเชื่อ เพื่อนำมาหมุนเวียนกิจการต่อไป เรื่องการขอสินเชื่อนั้น โค้ชหนุ่มได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจ โดยได้ชี้ให้เห็นว่า  คำว่า “เชื่อมั่นว่าธุรกิจของเรามีอนาคต” นั้น สิ่งสำคัญคืออย่าคิดไปเอง ควรจะต้องทำตัวเลขประมาณการว่า ถ้าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ จะมีรายได้จริงๆ เท่าไหร่ มาจากทางไหน มาได้อย่างไร จากนั้นจึงค่อยมาวางแผนในการขอสินเชื่อ ซึ่งการขอสินเชื่อมีข้อที่ต้องประเมินดังนี้ 
  1. อย่าใช้สินเชื่อผิดประเภท หลายคนพอเดือนร้อนมากก็เลือกใช้บัตรกดเงิน บัตรเครดิต เพื่อมาหมุนกิจการก่อน สิ่งนี้อันตรายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากดอกเบี้ยแรงมาก ระดับ 20% ขึ้นไป ทำให้กำไรหายไปหมดเลย ซึ่งแบบนี้เป็นการกู้เพื่อต่อลมหายใจ แต่ไม่ได้เป็นการพลิกฟื้น ฉะนั้นจึงห้ามทำ และอย่าออกไปนอกระบบ
  2. ใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันทางการเงิน ช่วงนี้ก็มีสินเชื่อพิเศษเยอะ หากไปขอสินเชื่อกับธนาคาร ควรไปหลายๆ ธนาคาร เพราะว่ามีนโยบายที่อัดฉีดออกมาเป็นตัวช่วย เช่น ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ทั้งนี้เวลาเข้าไปก็อย่าตกใจหากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าสินเชื่อหมด ให้ถามว่ามีตัวอื่นที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ ถ้า 2.5-3.5% เชื่อว่าน่าจะก็ยังพอไหว และอย่าขอแค่ตัวเลขเปอร์เซนต์ ควรทำตัวเลขไปเลย เช่นถ้าจะต้องกู้ 1,000,000 บาท ต้องจ่ายกี่งวด ดอกเบี้ยเท่าไร แล้วเอาตัวเลขดอกเบี้ยทั้งหมดมาเปรียบเทียบ
  3. อย่ากู้มั่วโดยที่ไม่มีแผนการชำระคืน ควรที่จะต้องเตรียมแผนการชำระคืน โดยดูว่าจะต้องผ่อนต่อเดือนเท่าไร แล้วนำตัวเลขนั้นไปใส่ในงบการเงินว่าจ่ายไหวหรือไม่ ถ้าจ่ายไม่ไหวก็ขอยืดเวลาออกไปเพื่อให้ผ่อนต่ำลง
การจัดการหนี้สินที่ดีควรต้องทำอย่างไรอย่างที่โค้ชหนุ่มได้แนะนำไปในตอนต้นแล้วว่า ช่วงนี้ผู้ประกอบการต้องขยันวิ่งเข้าหาเจ้าหนี้ เพื่อเข้าไปเจรจา ซึ่งหาสามารถประนีประนอมได้ ย่อมช่วยให้ผ่อนหนักเป็นเบาลงไปได้มาก ซึ่งแนวทางในการเข้าไปขอเจรจาพูดคุยกับเจ้าหนี้นั้นมีดังต่อไป 
ต้องเจรจาแบบแบไต๋ โดยเวลาที่เข้าไปเจรจากับสถานบันการเงินนั้น ควรไปพร้อมตัวเลขงบกำไร ขาดทุน เพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าเงินไม่เข้า ให้เห็นว่าเรามีปัญหาจริงๆ แล้วจะขาดทุนแบบนี้ไปอีก 3 เดือน 6 เดือน อย่างนี้จะช่วยอะไรเราได้บ้าง ซึ่งมักจะเงื่อนไขที่ดี ทำการบ้านไปก่อน โจทย์สำคัญในการเจรจา คือการทำการบ้านไปก่อน ต้องคิดก่อนว่าจะไปขอเจรจาตรงไหน มีออปชั่นหลัก 5 ทาง 1.ดีที่สุดคือพักการจ่ายทั้งต้นทั้งดอก 2.จ่าย เฉพาะดอก 3. ลดดอกเบี้ย 4. ขอลดงวด 5.ยืดหนี้สั้นเป็นหนี้ยาว ต้องลดอย่างนี้เลยถึงจะอยู่ได้ ซึ่งจะทำให้มีออปชั่น อย่าให้สถาบันการเงินเป็นฝั่งเสนออย่างเดียว เขาก็ไม่รู้หรอกว่าเรารอดหรือไม่ สุดท้ายก็พังอยู่ดี ฉะนั้นลองเจรจาโดยไล่เรียงตามเงื่อนไข 5 ข้อข้างต้น ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ 
ฝากข้อคิดและกำลังใจ สุดท้ายนี้ โค้ชหนุ่มได้ฝากข้อคิดในการทำธุรกิจท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 ว่าหากธุรกิจใดฟื้นคืนกลับมาจากสถานการณ์ COVID-19 ได้ อยากให้จดจำไว้เป็นบทเรียนด้วย ซึ่งหลายๆ ธุรกิจเห็นชัดเลยว่า ‘ไม่มีเงินทุนสำรอง’ รวมทั้งมักจะไม่ได้ดู ‘ประมาณการเงินสด’ นอกจากนั้นแล้ว เวลาที่กิจการเติบโตดีมักจะรีบขยาย แล้วหลายครั้งเป็นการขยายโดยการใช้สินเชื่อ ซึ่งทำให้มีภาระซ่อนเร้น เวลาที่ขายดีจะมองไม่เห็น แต่หากขายไม่ได้ หนี้จะผุดขึ้นมาเป็นปัญหา “อยากจะแนะนำทุกคนว่า ถ้าวันนี้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ อย่าลืมเรื่องวันนี้ การทำธุรกิจในแต่ละครั้ง อยากจะให้ประมาณการเงินสดล่วงหน้า 6-12 เดือนเสมอ ว่าจะมีเงินหมุนเวียนในกิจการไปถึงตรงนั้นหรือเปล่า ทุกครั้งที่มีกำไร อยากจะให้เก็บส่วนหนึ่งไว้สำหรับหมุนเวียนกิจการ รวมไปถึงถ้าจะต้องขยายกิจการ อยากให้ขยายด้วยกำไรส่วนหนึ่ง อย่าใช้เงินกู้ทั้งหมด ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหาและความเหนื่อยในอนาคต เดี๋ยวคราวหน้าเกิดวิกฤติอีก ก็จะกลับมาที่วงจรนี้อีก สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นว่าอุตส่าห์ทำธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้มั่งคั่งมากขึ้น” “ผู้ประกอบการเป็นคนที่ทำงานเหนื่อย เพราะต้องดูแลหลายสิ่งหลายอย่างไปพร้อม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ลูกน้อง อยากจะบอกว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ ช่วงเวลาแบบนี้ต้องใช้สติและความรอบคอบในการตัดสินใจสู้ โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่ารีบตัดสินใจ ทุกครั้งที่ตัดสินใจทางการเงิน นอกจากจะคิดว่าหาเงินจากที่ไหนแล้ว ให้นึกถึงคำถามตามว่า เมื่อได้เงินก้อนนี้มาแล้วจะมีผลหรือภาระอะไรที่ติดตามไปในระยะยาวๆ ที่จะก่อปัญหาหรือไม่ ซึ่งเวลาที่จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องกลับไปที่ประมาณการเงินสด ซึ่งต้องมีการจัดทำไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ได้เห็นข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจ ก็อยากจะให้กำลังใจให้อดทน สู้นิดนึง เพราะว่าสภาวะแบบนี้วันหนึ่งมันก็ต้องไป เชื่อว่าจะผ่านไปได้ถ้าทุกคนมีสติและกำลังใจในการแก้ไขปัญหา”
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
วางแผนการเงินบัญชีและการเงินบทสัมภาษณ์ และรีวิว

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด