ระวัง 7 กับดัก ทำให้ร้านขายไม่ดี

29 ก.ย. 2566
ระวัง 7 กับดัก ทำให้ร้านขายไม่ดี อาจเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือพฤติกรรมที่ไม่ทันสังเกต ไปจนถึงปัญหาใหญ่ ที่ผู้ประกอบการอาจะเลือกที่จะมองข้าม ลองเช็คกันว่ามีปัญหาอะไรบ้าง พร้อมวิธีแก้ปัญหา
รอให้พร้อมก่อนค่อยทำ

1.รอให้พร้อมก่อนค่อยทำ
หลายคนติดกับดัก ว่าต้องพร้อมก่อนถึงจะลงมือทำ เช่น เงินต้องพร้อม คนต้องพร้อม ทำเลต้องดี ต้องมีแผนธุรกิจที่เป๊ะ ทั้งหมดที่ว่ามาเป็นสิ่งที่ดี แต่ในชีวิตจริงถ้ามัวแต่รอให้พร้อมทุกด้านก่อน อาจจะช้าเกินไป ในขณะที่คนอื่น-ร้านอื่นที่ยอมเสี่ยงลงทุนทำเพราะเห็นโอกาสในการอยู่ตรงหน้า พร้อม-ไม่พร้อมเปิดขายไปก่อน แล้วปรับตัวเอาตามสถานการณ์ ร้านแบบนี้มักจะเก็บลูกค้าและทำกำไรไปก่อนเราเสมอ

และหลายคนเป็น perfectionist ถ้าทำแล้วออกมาไม่ดีสู้ไม่ทำจะดีกว่า เลยไม่ได้เริ่มทำอะไรสักที จำไว้ว่า! ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ต่อให้วางแผนธุรกิจดีแค่ไหน ก็มักจะเจอปัญหาที่ไม่คาดคิดได้เสมอเมื่อลงมือทำจริง ดังนั้น ควรจะวางแผนแล้วเริ่มทำไปพร้อมกัน ศึกษาปัญหาจากงานหน้างานจริง แล้วค่อยแก้ไขไปทีละเรื่อง จะได้ไม่พลาดโอกาสในการขาย
ตั้งกลุ่มลูกค้าไม่สอดคล้องกับทำเล

2.ตั้งกลุ่มลูกค้าไม่สอดคล้องกับทำเล
สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ทำเลเป็นเรื่องสำคัญ การเลือกทำเลนอกจากจำนวนคนที่หมุนเวียนในทำเลนั้นแล้ว ยังต้องวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าในทำเลนั้นให้ดี เพราะแต่ละทำเลมีกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน ความชื่นชอบ รสนิยม กำลังการซื้อก็ไม่เหมือนกัน การตั้งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจึงต้องเก็นบข้อมูลในพื้นที่ให้ดีซะก่อนตัดสินใจ
เสพคอนเทนต์คนอื่นได้ แต่ต้องหาตัวเองให้เจอ

3.เสพคอนเทนต์คนอื่นได้ แต่ต้องหาตัวเองให้เจอ
เป็นเรื่องดีถ้าเราจะดูงานคนอื่นเพื่อหาแนวทางในการทำคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จ หรือทำชาเลนจ์เหมือนร้านอื่นเพื่อสร้างยอดการมองเห็นให้มากขึ้น แต่สิ่งคอนเทนต์จะไม่ประสบผลสำเร็จเลย ลูกค้าจำร้านเราไม่ได้ การสร้างตัวตนให้ลูกค้าจำได้เป็นสิ่งสำคัญ นั่นหมายถึง ต้องหาจุดขายอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น(Unique selling point) ของร้านให้เจอซะก่อน แล้วดึงจุดนั้นออกมาสื่อสาร เพื่อให้ลูกค้ารับทราบและจดจำเอกลักษณ์ของร้านเราได้
คิดว่าให้เยอะ ลูกค้าชอบ ซึ่ง “ไม่จริงเสมอไป”

4.คิดว่าให้เยอะ ลูกค้าชอบ ซึ่ง “ไม่จริงเสมอไป”
ลูกค้าหลายคนไม่ได้ต้องการทานเยอะ แค่ต้องการทานอิ่ม หรือเลือกทานได้หลากหลายมากกกว่า บางร้านเน้นให้เยอะ แต่พฤติกรรมของลูกค้าส่วนใหญ่ในทำเลร้านไม่ใช่คนเน้นกินเยอะ แบบนี้นอกจากจะไม่ตรงใจลูกค้าแล้ว ร้านยังจะขาดทุนจากของที่ลูกค้าทานหลืออีก ลองดูกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เช่น ร้านราเมนนะ ชามละ 25 บาท เป็นร้านที่มีลูกค้าเต็มร้านตลอด ราเมนชามไม่ต้องใหญ่ ขนาดพอดีอิ่ม ลูกค้าชอบที่ราคาไม่แพงปริมาณพอดี สามารถสั่งมากินหลายชาม เพื่อให้ได้ชิมน้ำซุปได้หลายแบบ
ขายเมนูที่ตัวเองชอบ แต่ลืมคิดไปว่าลูกค้าจะชอบเหมือนเราไหม?

5.ขายเมนูที่ตัวเองชอบ แต่ลืมคิดไปว่าลูกค้าจะชอบเหมือนเราไหม?
เรื่องนี้มักจะเกิดขึ้นกับร้านอาหารที่มีแรงบันดาลใจมาจากเมนูที่ชอบ ชอบกิน ชอบชิม และชอบทำเมนูอะไรเป็นพิเศษ จนคนรอบตัวบอกว่าอร่อย แนะนำให้เปิดร้าน แล้วหวังว่าลูกค้าทุกคนจะชอบและขายดี แต่....เมนูนั้นอาจจะถูกใจใครต่อหลายคน แต่อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจลูกค้าส่วนใหญ่ที่จะต้องจ่ายเงินซื้อก็ได้ สิ่งที่ควรทำก่อนเปิดร้านขายคือ ศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่อเมนูนั้นเพิ่มเติม และนำมาปรับปรุงเมนูเด็ดของเราให้เป็นที่ถูกใจลูกค้าในวงกว้าง แล้วจึงวางแผนเปิดขายเป็นธุรกิจอีกที
ม่อัปเดตช่องทางออนไลน์ ลูกค้าไม่รู้ว่าขายอยู่หรือไม่

6.ไม่อัปเดตช่องทางออนไลน์ ลูกค้าไม่รู้ว่าขายอยู่หรือไม่
ในยุคที่อะไรก็หาจากมือถือ จะไปกินอะไรที่ร้านไหน ก็หาจากมือถือ ดังนั้น ถ้าอยากให้ร้านเป็นที่รู้จัก ข้อมูลร้านจำเป็นจะต้องขึ้นไปอยู่ในออนไลน์ด้วยเช่นกัน แล้วร้านเก่า ๆ เจ้าเดิม ๆ ต้องทำช่องทางออนไลน์ไหม? คำตอบคือ “ควรทำ” อย่างน้อยต้องแจ้งให้ลูกค้ารู้ว่า ร้านเปิดวันไหน-เวลาอะไรบ้าง มีอะไรขายบ้าง ยิ่งถ้าอยากเพิ่มช่องทางการขาย ต้องขยับตัวไปลงขายในหลายแพลตฟอร์มมากขึ้น พร้อมทำคอนเทนต์อัพเดทเมนูและโปรโมชั่นของร้านอยู่เสมอ
ไม่ปรับปรุงอะไร แม้จะเห็นปัญหาและสาเหตุชัดเจนอยู่ตรงหน้า

7.ไม่ปรับปรุงอะไร แม้จะเห็นปัญหาและสาเหตุชัดเจนอยู่ตรงหน้า
แน่นอนว่าทำร้านอาหารยังไงก็ต้องเจอปัญหา เมื่อมีปัญหาต้องแก้ไข ก็ควรยอมรับและแก้ไข แต่บางครั้งเราเลือกที่จะทำเหมือนเดิม มองข้ามปัญหาไป เพราะไม่อยากปรับเปลี่ยนอะไร เช่น สูตรอาหารมั่นใจว่าดีแล้ว แต่รสชาติไม่ถูกปากลูกค้าจนหลายคนติติง แต่ก็ยังเลือกที่จะทำรสเดิมต่อไป หรือข้อผิดพลาด เช่น ทำอาหารผิด อาหารออกช้า ร้านไม่สะอาด ฯลฯ ซึ่งถ้าไม่ปรับปรุงแก้ไขอะไร ก็ยากที่จะมีลูกค้าประจำที่ทำใจยอมรับเรื่องผิดพลาดบ่อย ๆ แบบนี้ได้
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด