ต้นทุนแฝงและปัญหาที่ตามมาเมื่อเข้าระบบ Delivery ถ้าไม่รู้ร้านพัง!

10 พ.ย. 2562
ชั่วโมงนี้ร้านอาหารไหนไม่มี Delivery ถือว่าเสียโอกาสทางการค้า เพราะตลาด Delivery ที่มีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ให้บริการแต่ละรายนั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมพฤติกรรมสั่งอาหารมากินถึงที่ของผู้บริโภคในปัจจุบันและพฤติกรรมนี้จะขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนี้ไป นั่นเท่ากับว่า โอกาสที่ลูกค้าของร้านอาหารร้านหนึ่งซึ่งเคยมาที่ร้านประจำ อาจหายไปอยู่ในตลาด Delivery ได้ ดังนั้น การนำพาร้านเข้าไปเป็นหนึ่งตัวเลือกในตลาด Delivery จึงเรียกได้ว่าเป็นทั้งการรักษาโอกาสทางการค้าและเพิ่มช่องทางการขาย ถึงแม้ว่า Delivery จะเป็นเหมือนโจทย์บังคับที่ร้านอาหารไม่ควรเลี่ยง แต่ก็มีสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงเช่นกัน โดยเฉพาะต้นทุนแฝงตาง ๆ ที่อยู่ในระบบ Delivery ดังนี้ 1. ค่าบริการที่จะต้องจ่ายให้กับค่าย Delivery ที่เข้าร่วม ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ของแต่ละค่ายจะไม่เท่ากันโดยจะคิดค่าบริการเป็น % จากยอดขาย ตัวอย่างเช่น ค่าย Delivery A คิดค่าบริการ 30% หากมีลูกค้าออเดอร์อาหารผ่านค่าย Delivery A เป็นจำนวนเงิน 300 บาท ทางค่ายจะคิดค่าบริการอยู่ที่ (300 x 30)/100 = 90 บาทนั้นเอง แสดงว่ารายได้ที่ร้านจะได้รับจากออเดอร์ 300 บาทก็คือ 300 - 90 = 210 บาท และอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องวางแผนรับมือไว้ร่วงหน้าก็คือ ในบางผู้ให้บริการจะมีรอบเครดิตเทอม หรือรอบการจ่ายเงินให้กับร้านค้าตามรอบบัญชี ไม่ได้เคลียร์กันครั้งต่อครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องศึกษาระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ละเอียดด้วย
2. ค่าบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากการที่เราจ้างค่าย Delivery เป็นผู้ส่งแทนร้านเรานั้น จะต้องทำใจอย่างหนึ่งเลยว่าการดูแลอาหารของเราที่อยู่ในกล่อง Delivery นั้นอาจจะไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่ากับลุกค้ามาซื้อที่หน้าร้านเอง ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องหาบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองกับการ Delivery เพื่อให้อาหารถึงมือลุกค้าอย่างปลอดภัยและมีหน้าตาที่ใกล้เคียงกับการทานที่ร้าน จึงทำให้อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มเติมขึ้นมา แต่ปัจจุบันนี้ก็ต้องบอกว่าบรรดาผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์เล็งเห็นถึงการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาด Delivery จึงมีการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับรองรับบริการ Delivery มาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ
3. ค่าถ่ายภาพ สำหรับร้านอาหารบางร้าน อาจจะไม่เคยมีภาพถ่ายอาหารเลย สำหรับการขายที่หน้าร้านอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่หากเป็นช่องทาง Delivery คงจะยากที่เราสั่งอาหารโดยไม่เห็นหน้าตาอาหารก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องถ่ายภาพอาหารให้สวยงามน่ากิน เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสั่งอาหารร้านเรา แต่ก็อีกนั่นแหละ เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือศักยภาพการถ่ายรูปเพื่อลงสื่อออนไลน์เกือบจะเทียบเท่ากล้องถ่ายรูปแล้ว หากผู้ประกอบการจะประหยัดต้นทุนส่วนนี้ ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ลงมือถ่ายเองก็ทำได้ สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ วิธีการถ่ายและไอเดียในการนำเสนอ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ผ่านหลักสูตรอบรมการถ่ายภาพด้วยมือถือแค่นี้ก็ช่วยประหยัดงบส่วนนี้ไปได้แล้ว เรามีคอร์สออนไลน์ “สร้างสรรค์ภาพเมนูอาหารอย่างมืออาชีพด้วยมือถือ” เรียนฟรีได้ที่ >> http://bit.ly/2NMwKM4 4. ค่าโฆษณา ร้านอาหารที่อยู่ในระบบ Delivery สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรามีโอกาสการขายที่มากขึ้นกว่าร้านอื่นๆ ก็คือ การซื้อโฆษณาบนระบบ Deliveryเพื่อให้อยู่ในหน้าพิเศษต่างๆ ของค่ายนั้นๆ หรืออาจจะเป็นการร่วมทำโปรโมชั่นเพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักและใช้บริการร้านเราได้ง่ายขึ้น ซึ่งงบประมาณส่วนนี้เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ต้องคิดก่อนทำ Delivery คือไม่ใช่ทุกเมนูอาหารจะเหมาะกับการทำ Delivery ดังนั้นควรพิจารณาก่อนว่า เมนูที่จะไป Delivery นั้นหากถึงมือลูกค้าแล้ว สภาพอาหาร รสชาติ จะเป็นอย่างไรใกล้เคียงกับการทานที่ร้านมากแค่ไหน หากไม่โอเคเลยก็ไม่ควรจะนำเมนูนั้นไปลงในเดลิเวอรี่ และเมนูที่มีต้นทุนอาหารสูงมาก อย่าลืมว่าการเข้าร่วมกับ Delivery นั้นจะต้องเสียค่าบริการหากคำนวณแล้วขายได้ 1 ออเดอร์หักต้นทุนอาหารหักค่าบรรจุภัณฑ์ หักค่าบริการ แล้วเหลือกำไรต่ำมากก็อาจไม่คุ้มที่จะอยู่ในไลน์เมนู Delivery
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด