อยากเริ่มต้นเปิดร้าน Street Food 2021 เริ่มต้นอย่างไรดี

22 ส.ค. 2564

อยากเริ่มต้นเปิดร้าน Street Food 2021 เริ่มต้นอย่างไรดี


Street Food (สตรีทฟู้ด) นับเป็นธุรกิจหนึ่งที่น่าทำ เนื่องจากลงทุนไม่มาก และเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการกินพื้นฐานของคนไทย มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2564 ธุรกิจ Street Food ในไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 340,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.3 ต่อปีเลยทีเดียว วันนี้ MHA มีขั้นตอนและคำแนะนำในการเริ่มต้นทำธุรกิจ Street Food มาแนะนำ สำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจ Street Food ในปี 2564 นี้

  • เลือกเมนูที่จะขายก่อน
  • สร้างความแตกต่างให้กับร้าน Street Food
  • เลือกทำเล Street Food ที่จะขาย
  • Street Food  ก็ทำการตลาดได้
  • คำนึงถึงคุณภาพในด้านต่าง ๆ
  • การจัดการร้าน Street Food
  • มาตรการ Street Food ในช่วงโควิด-19
  • ข้อควรระวังในการเปิดร้าน Street Food

  1. เลือกเมนูที่จะขายก่อน สำหรับการเลือกเมนูในร้าน Street Food นั้น อาจพิจารณาจากปัจจัยที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าเป็นคนที่ทำอาหารได้อยู่แล้ว ให้ลองเลือกเมนูที่ทำได้โดดเด่นที่สุดออกมา จากนั้นค่อยหาเมนูที่เหมาะกับการทำเป็น Street Food เป็นเมนูที่ทานง่าย ใช้เวลาปรุงและเวลาทานไม่นาน จะเป็นอาหารจานเดียวหรือเป็นชุดไม่ใหญ่นักก็ได้ และต้องสามารถซื้อกลับบ้านได้ เช่น อาหารตามสั่งต่าง ๆ สเต็ก อาหารปิ้ง-ย่าง ของทอด เครื่องดื่มชง ชานม เป็นต้น
หรืออาจมองที่ทำเลเป็นหลัก หากเล็งทำเลใดที่จะขายของอยู่แล้ว ให้ลองสำรวจดูก่อนว่า ในทำเลนั้นยังขาดอาหารอะไรบ้าง จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกับร้านอื่นที่ขายอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นจึงดูว่าเราสามารถทำเมนูนั้นได้อย่างโดดเด่นหรือไม่อีกทีหนึ่ง หรือหากจะเน้นขายอย่างเดียว ให้ลองติดต่อซื้อแฟรนไชส์ Street Food มาขายก็ได้เช่นกัน


2. สร้างความแตกต่างให้กับร้าน Street Food ไม่ว่าจะเป็นส่วนของตัวร้าน หรือเมนูอาหาร การตกแต่งร้านที่แตกต่างจากคนอื่น การตั้งชื่อร้านให้น่าสนใจแต่ต้องนึกออกทันทีว่าร้านขายอะไร เช่น หมูสะเต๊ะหญิงอัจ, เตี๋ยว-ตำ-ยำ ลูกชิ้นดิ้นรน หรือร้านไก่กระสุน ส่งเร็วเหมือนยิงกระสุน สำหรับการตกแต่งร้านไม่ควรใช้งบประมาณมากจนเกินไป แต่ต้องมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารครบ มีการจัดวางที่เป็นระเบียบ มีโลโก้ ชื่อร้าน และเมนูที่ชัดเจน บ่งบอกความเป็นตัวเองของร้าน

ในส่วนของเมนูอาหารนั้น ลองปรับจากเมนูธรรมดาให้แตกต่างจากร้านอื่น เช่น  ทอดมันหัวปลี โรยด้วยใบชาทอด กะเพราสารพัดเมนูพิเศษ ปาท่องโก๋กับดิปประเภทต่างๆ เครปสารพัดไส้ หรือถ้ามีสูตรเฉพาะของร้านก็จะสร้างจุดเด่นได้เป็นอย่างมาก


3. เลือกทำเล Street Food ที่จะขาย ร้าน Street Food โดยทั่วไปจะต้องพึ่งพาลูกค้าที่ไปทานในร้านเป็นหลัก แต่ยุคนี้ลูกค้าเดลิเวอรี่ก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น การเลือกทำเลที่มีกลุ่มเป้าหมายสัญจรผ่านเป็นประจำและพนักงานจัดส่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายจึงสำคัญมาก ซึ่งได้แก่ ทำเลใกล้แหล่งที่ทำงาน บริษัท ห้างร้าน ใกล้สถานศึกษา 

แต่ใช่ว่าจะสามารถนำรถเข็น  Food truck หรือ บูธขายอาหาร ไปตั้งในสถานที่นั้นได้เลย เพราะต้องศึกษาข้อห้ามและกฎหมายเกี่ยวกับการขายสินค้าตามทางและที่สาธารณะของแต่ละจังหวัดให้ดีก่อนว่ามีการอนุญาตอย่างไรบ้าง 

ดังนั้น ตลาดนัด โซนขายอาหาร, Walking street และ Night Brazza จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการตั้งร้านขาย Street food เพราะเป็นพื้นที่ที่จัดเอาไว้โดยเฉพาะสำหรับขายอาหาร ทั้งนี้อาจต้องเสียค่าเช่าพื้นที่บ้าง หรือถ้าร้านเราสามารถย้ายที่ตั้งได้ง่าย หรือเป็น Food Truck ลองเพิ่มโอกาสการขายโดยการออกร้านในงานอีเว้นท์ด้วยก็ได้ ศึกษาเพิ่มเติมการเลือกทำเล ได้ที่ เปิดร้านให้รวย ด้วยทำเลดี


4. Street Food  ก็ทำการตลาดได้ สำหรับร้าน Street Food ในปัจจุบัน จำเป็นต้องทำการตลาดทั้งแบบพื้นฐานและออนไลน์ โดยเริ่มตั้งแต่ กลยุทธ์การตั้งราคาและการส่งเสริมการขาย โดยการตั้งราคานั้นมีกลยุทธ์ที่ควรนำมาใช้ได้แก่ การตั้งราคาเชิงจิตวิทยา การตั้งราคาลงท้ายด้วยเลข 9 หรือการตั้งราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่งเล็กน้อย เพื่อความได้เปรียบ สำหรับการส่งเสริมการขาย ลองใช้การลดราคาในกรณีที่ซื้อครบตามจำนวน เช่น หมูปิ้งราคา ไม้ละ 7 บาท ซื้อ 3 ไม้ในราคา 20 บาท หรือ เบอร์เกอร์ขายพร้อมเฟรนช์ฟรายส์ในราคาพิเศษ และการสะสมแต้มโดยแจกบัตรสะสมกับลูกค้าที่มาซื้อ เป็นต้น 

สำหรับการทำโฆษณา ลองใช้การทำใบปลิว ที่มีแผนที่ร้าน เมนูแนะนำ และรายละเอียดติดต่อ สำหรับกรณีสั่งทางช่องทางต่าง ๆ และเพิ่มช่องทางการทำการตลาดออนไลน์ ด้วยการสร้างเพจ Facebook พร้อมศึกษาการทำคอนเทนต์ และการขายของผ่าน Facebook ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การขายผ่านหน้าเพจ เช่น ร้านหมูปลาร้าฮีโร่ แยกคอกวัว หรือขายใน Group ที่เกี่ยวข้องหรือ group ที่ร้านอยู่ในพื้นที่ เช่น กลุ่มคนรักดอนเมือง ของอร่อยนครปฐม ของกินนครปฐม และ Market Place ที่เราสามารถกดปุ่มสร้างรายการสินค้าใหม่ เพื่อโปรโมทร้านเราได้เลย

หลักพื้นฐานของการทำการตลาด Street Food คือ ต้องสร้างความแตกต่างจากร้านอื่น ดังนั้น ลองหาความต่างของร้านตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม จากนั้นนำมาสร้างเป็นจุดแข็งของร้าน และนำมาสร้างเป็นเรื่องราวของร้านในการทำการตลาดต่อไป


นอกจากนี้แล้ว การบริหารจัดการร้านก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ร้าน Street Food จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

1.คำนึงถึงคุณภาพในด้านต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย 

– คุณภาพของอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสดใหม่ของวัตถุดิบ ความสะอาดในการปรุง รสชาติควรมีมาตรฐาน ควรศึกษาระบบการชั่งตวงวัตถุดิบในการปรุงอาหาร และการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปรุงอาหาร เพื่อให้ได้รสชาติที่ใกล้เคียงกันในแต่ละครั้ง 

– คุณภาพด้านความสะอาด เริ่มตั้งแต่ความสะอาดของวัตถุดิบ อุปกรณ์เครื่องครัว บรรจุภัณฑ์ รวมถึงตัวผู้ปรุงอาหาร และพนักงานร้าน ทั้งเครื่องแต่งกายและกระบวนการปรุงอาหาร โดยศึกษาได้จากข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับร้านอาหาร ได้ที่ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ทั้งนี้ยังรวมถึงจากจัดการกับขยะวัตถุดิบ และขยะจากการประกอบอาหารซึ่งต้องมีการนำไปทิ้งให้ถูกที่อีกด้วย

– คุณภาพด้านการบริการ ไม่ว่าจะเป็น เวลาเปิดร้านที่แน่นอนและสม่ำเสมอ การบริการลูกค้าแบบเป็นมิตร และจริงใจในการให้บริการ การเตรียมอุปกรณ์ช่วยในการคิดเงิน เก็บเงิน อุปกรณ์ที่ใช้ในการทานอาหาร หรือส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ขาย



2.การจัดการร้าน Street Food ซึ่งประกอบด้วย

  • การวางแผนการเงิน โดยแบ่งเป็นรายรับ-รายจ่าย ต้องทำบัญชีต้นทุนและค่าวัตถุดิบในแต่ละวัน และทำบัญชียอดขายในแต่ละวัน เพื่อใช้ในการประเมินรายได้ และประมาณการรายรับรายจ่ายในแต่ละช่วงของเดือน
  • การจัดการทำงานภายในร้าน แม้จะเป็นร้านเล็ก ๆ แต่ต้องมีการวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สะดวกต่อการทำงานและปลอดภัย เช่น วางถังแก๊สและเตาในที่ปลอดภัย วางถาดใส่วัตถุดิบสูงกว่าพื้นอย่างน้อย 60 ซม. โต๊ะอาหารไม่ขวางทางเดิน
  • หากร้านมีหลายเมนู ควรทำบันทึกยอดขายด้วยเพื่อดูว่ามีเมนูใดขายดี หรือเมนูใดขายไม่ได้ เพื่อใช้ในการบริหารวัตถุดิบ และต้องใช้ในการจัดการเมนูในอนาคต

3. มาตรการ Street Food ในช่วงโควิด-19

  • สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือตลอดเวลา โดยเฉพาะในขณะทำอาหาร ขณะเสริฟ หรือในขณะที่พูดคุยติดต่อกับลูกค้า
  • ต้องมีเจลแอลกอฮอล์สำหรับให้ลูกค้าล้างมือ หากร้านอยู่ในที่ปิดต้องมีการระบายอากาศที่ดีและมีการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน
  • ต้องมีการเว้นระยะห่างในการทานอาหาร และการรออาหาร การเข้าคิวต่างๆ ได้แก่ การนั่งเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร การเว้นระยะห่าง 1 เมตร โดยทำจุดยืนรอให้ห่างกันอย่างชัดเจน และควรจัดที่นั่งให้กับพนักงานส่งอาหารที่รออาหารด้วย
  • เน้นการชำระเงินด้วยระบบ E-payment เช่น การโอน การแสกน QR Code เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด

อย่างไรก็ตาม การเปิดร้าน Street Food ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน ดังนี้

  1. อย่าใช้งบประมาณไปกับการตกแต่งร้านมากจนเกินไป การตกแต่งร้านให้ดูโดดเด่นนั้นช่วยให้ร้านเป็นที่รู้จักได้ดีก็จริง แต่ถ้าใช้งบประมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ เพราะร้านอาหารนั้นใช่ว่าจะสามารถคืนทุนได้ในไม่กี่วัน ควรมีทุนสำรองไว้เพื่อใช้ในการพยุงร้านในช่วงเริ่มต้น
  2. เลือกทำเลที่ไม่มีกลุ่มเป้าหมายสัญจรมากนัก หรือพนักงานส่งอาหารเข้าไม่ถึง นั่นจะเป็นการยากที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ แม้จะมีการขายแบบออนไลน์และจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ก็ตาม
  3. ทำการตลาดไม่ดีพอ ถ้าไม่มีการโปรโมทร้านที่ดี ร้านคงต้องพึ่งพาการบอกต่อแบบปากต่อปากโดยลูกค้าเท่านั้น ซึ่งจะใช้เวลานานมากในการสร้างการรับรู้และความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าในวงกว้าง

ทั้งนี้ MHA ขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูลในการเริ่มต้นร้านอาหารได้ที่ มือใหม่เปิดร้านอาหาร รวมถึงศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่คอร์สออนไลน์ของ Makro Horeca Academy และกลับมาพบกับบทความการตลาดร้านอาหารได้ใหม่ในตอนถัดไป 

คลิกอ่านบทความน่ารู้ จากแม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด