MHA Talk ชวนแกะรอยความสำเร็จจาก 4 ร้านดัง เรียนรู้ประสบการณ์จริง เพื่อต่อยอดธุรกิจร้านอาหารคุณ

12 ก.ค. 2564
ใคร ๆ ก็อยากประสบความสำเร็จในธุรกิจอาหาร แน่นนอนว่าตอนที่เราเริ่มต้น ไม่มีหลักประกันว่าสิ่งที่เราทำมันจะสำเร็จในอนาคตหรือเจ๊งย่ำแย่ ไม่มีหลักสูตรสำเร็จตายตัว 100% ให้ศึกษา มีแต่ตัวเราที่มองเห็นลู่ทาง อยากสำเร็จต้องลงมือทำ เรียนรู้จากตัวเอง เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้อื่นอยู่เสมอ
วันนี้เราจะพามาแกะรอยความสำเร็จร้านดัง ศึกษากลยุทธ์ที่การันตีความสำเร็จจากประสบการณ์ตรง  แนวคิดที่ทำให้ร้านโตเร็วกว่า ฉีกกฎที่ร้านอาหารควรจะเป็น และวิธีแก้ไขความผิดพลาด ให้ลูกค้าพร้อมอภัยได้ทุกเมื่อ ให้ผู้ประกอบทุกท่านนำไปปรับใช้กัน

ร้านสุกี้ตี๋น้อย
          เชื่อว่าเป็นร้านโปรดของคนรักสุกี้สายบุฟเฟ่ต์เลยก็ว่าได้  ด้วยราคาที่เข้าถึงง่าย และการบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าในหลาย ๆ ด้าน ปัจจุบันปี 2563 เปิดให้บริการมากถึง 18 สาขา ในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น แถม Facebook Page ลงทุนแมน เผยว่าในปี 2562 ร้านสุกี้ตี๋น้อยมีรายได้สูงถึง 499 ล้านบาท อะไรเป็นจุดแข็งที่ทำให้ร้านเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เราจะพามาแกะรอยความสำเร็จกับ คุณนัทธมน พิศาลกิจวานิช เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย


  • ให้ประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า:  เราต้องการสร้างความแตกต่างจากร้านสุกี้บุฟเฟ่ต์ทั่วไป ในราคาเริ่มต้น 199 บาท สามารถทานเนื้อวัว ซีฟู้ด กุ้ง ปลาหมึกได้เต็มที่ มีพนักงานให้บริการตักวัตถุดิบให้ ไม่ต้องเดินไปตักเอง ด้วยจำนวนพนักงานที่เยอะ สามารถเสิร์ฟวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอของนาน นั่งทานในห้องแอร์และตกแต่งสวย มีที่จอดรถกว้างขวาง ให้ลูกค้ามาทานแล้วรู้สึกคุ้มค่า อยากกลับมาใช้บริการบ่อย ๆ
  • วิธีเพิ่มยอดขายในช่วง Covid-19: มีประกาศให้เราต้องปิดร้าน เลยหาวิธีเพิ่มยอดขาย เริ่มต้นทำบะหมี่หยกตี๋น้อย จากนั้นทำสุกี้ Take away Delivery เป็นเซ็ตสุกี้ทานที่บ้านได้ ลงไปครั้งแรกทาง Facebook ว่าเรารับพรีออเดอร์ตอน 21.00 น. ถ่ายรูปและโพสต์เอง ปรากฏว่ามีลูกค้าสั่งทาง Inbox เยอะมาก ทำให้เรารู้สึกว่ายังมีลูกค้ารอเราอยู่ ต้องไปต่อ ยอมแพ้ไม่ได้
  • ใช้ Facebook เป็น Direct Communication โดยตรง: แทนการจ้างโฆษณาร้านผ่านทาง TV หรือทาง Billboard เพื่อนำต้นทุนทางการตลาดนี้กลับมาให้ลูกค้าโดยการแจกโปรโมชั่น แจกรางวัลบ่อย ๆ  หรือทานฟรี 100 คนแรกที่มาร้านผ่านทาง Facebook ไม่ต้องมีเงื่อนไขในการรับรางวัลมากมาย ให้ลูกค้าง่าย ๆ เลย
  • จัด Meeting FC สุกี้ตี๋น้อย: ขอบคุณลูกค้าที่รักสุกี้ตี๋น้อย สนับสนุนกันโดยตลอด มีการแจกรางวัล รับประทานอาหาร และพูดคุยระหว่างลูกค้ากับผู้บริหาร เพราะเราเชื่อว่าลูกค้าคือปัจจัยที่ทำให้ร้านประสบความสำเร็จได้ เลยให้ความสำคัญกับลูกค้ามาก
คลิกดู  VDO MHA TALK  แกะรอยความสำเร็จร้านดัง ฉบับร้าน สุกี้ตี๋น้อย แบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่


ร้านโรงสีสตูดิโอ

โดนดูถูกว่า “ประสบความสำเร็จเพราะแม่รวย” การมีเงินอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ทุกอย่างมันง่าย ผมเห็นหลายคนมีเงินแต่ทำไม่สำเร็จ ไม่มีใครรู้ว่าผมทำสำเร็จได้อย่างไร
วันนี้ เราจึงพาทุกท่าน แกะรอยความสำเร็จของนักธุรกิจหนุ่ม คุณลิขิต สินสถาพรพงศ์ ผู้ที่นำโรงสีเก่ากว่า 140 ปี มาปัดฝุ่น จนกลายเป็นคาเฟ่ริมน้ำอันดับ 1 ของปากเกร็ด สร้างมูลค่าหลายล้านบาทต่อเดือน


  • ธุรกิจในฝัน ต้องต่อยอดทำเงินด้วย: ด้วยความที่เรียน Interior จึงมีความฝันอยากเปิดร้านอาหาร ตกแต่งร้านให้เป็นสไตล์ของตัวเอง โดยมีแนวคิดที่ว่าสร้างสรรค์ศิลปะเป็นธุรกิจทำเงินให้ได้ด้วย ถ้าเราจะทำอะไรมันไม่ใช่แค่ความฝัน ไม่โลกสวย จะอยู่ได้นานมันต้องเป็นธุรกิจ ต้องมีรายได้
  • Story ร้านที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้: เรากล้าทำร้านคาเฟ่จากเครื่องสีข้าวที่ทำจากไม้ทั้งหมด เพราะมองโครงสร้างหรืออะไรเก่า ๆ เราไม่ได้กลัว เรามองว่าเขาสร้างยังไง แต่ก่อนช่องส่องข้าวใช้ไม้สัก แต่ทุกวันนี้ใช้สแตนเลส สังกะสี การสร้างร้านใหม่มันไม่ได้ Story ไม่ได้เรื่องราว Copy ยังไงก็ไม่ได้ ยิ่งอยู่นานเป็น 100-300 ปี มันยิ่งขลัง
  • ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า: เรียกได้ว่าที่นี่เป็นมากกว่าร้านคาเฟ่ นอกจากจะมีเมนูอาหารให้เลือกทานกันจนอิ่มท้อง ยังเปิดให้บริการ Homestay เพราะการทำความฝันให้ได้เงิน ต้องตอบโจทย์ลูกค้า อยากได้อะไรเราก็ต้องเอาตัวนั้นมาประกอบกัน
  • กล้าออกจากกฎของการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ:  ทำเลร้านนี้อยู่บนเกาะ ไม่มีถนน ต้องนั่งเรือเข้าร้าน เรียกได้ว่าผิดทุกอย่างเกี่ยวกับการทำธุรกิจเลย คุณลิขิตแชร์มุมมองเรื่องทำเลให้เราฟังว่า ผมชอบทำเลร้านอาหารแบบนี้ ไม่ชอบให้คนมาง่าย ๆ จอดรถง่าย ๆ ต้องมายาก ตอนนี้คนที่เช็คอินไปเที่ยวต้องไปที่จุดใหม่ ๆ ถ้าไปยาก คนไปน้อย เขาจะยิ่งรู้สึกประทับใจ
  • ช่วยสนับสนุนชุมชน: โดยการนำวัตถุดิบบางอย่างให้คนในเกาะส่งมาให้ อย่างหน่อไม้กะลา หรือผักบางตัวเราก็ใช้ของในเกาะอยู่ ไม่สำเร็จคนเดียวแต่ช่วยเหลือชุมชนด้วย
  • วางแผนการทำธุรกิจแบบเกมส์กีฬา: การทำธุรกิจให้มองยาว ๆ  ไม่ได้มองเพียงช็อตเดียว ถ้าเปรียบเป็นเกมส์กีฬาก็เหมือนเราเล่นสนุกเกอร์  เราต้องมองหมดโต๊ะ ข้ามช็อต ผมมองไว้หมดแล้ว
  • คิดจะลงทุน ต้องมีแผนสำรอง: คนที่จะมาทำคาเฟ่แล้วประสบความสำเร็จ เขาต้องมีโปรเจคสำรอง แล้วนำรายได้จากตรงนั้นมาทำคาเฟ่ ผมคิดว่าอันนี้โอเค เพราะคาเฟ่เป็นธุรกิจระยะยาว ไม่ได้เงินกลับมาเร็ว
ความสำเร็จไม่ได้เลือกว่าเราจะเป็นใคร แต่เราทุกคนสามารถเลือกที่จะประสบความสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำ  คลิกดู  VDO MHA TALK  แกะรอยความสำเร็จร้านดัง ฉบับร้านโรงสีสตูดิโอ แบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่


ร้าน Maze Dining

ชวนมาแกะรอยความสำเร็จ เชฟเมย์ พัทธนันท์ ธงทอง Executive Owner Chef ร้าน Maze Dining หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการ Top Chef Thailand SS1 เปิดเป็นร้าน Fine dining ที่ให้บริการแบบ Chef Table ทานเมนูแบบคอร์ส ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ในช่วง Lock down ทำให้เชฟไม่สามารถเปิดร้านได้ ถึงแม้จะต้องปรับเปลี่ยนเป็นเมนู Delivery แต่เชฟเมย์มีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้อาหารอร่อยเหมือนลูกค้ามาทานเองที่ร้าน รวมถึงวิธีควบคุมคุณภาพแบบไม่เสียชื่อเชฟเลยทีเดียว 


  • ทำเมนู Deliveryแบบของ Comfort Food: โดยมีแนวคิดที่จะทำให้เมนูอาหารและรูปแบบการนำเสนอเข้าถึงง่ายและราคาไม่สูงมาก จึงนำเมนูมาทำเป็นรูปแบบของ Comfort Food คำนึงว่าถ้าอาหารพวกนี้เป็น Delivery เมื่อไปถึงมือลูกค้าแล้วอร่อยเหมือนเดิม
  • ใช้หลักการ Kitchen Management: ทั้งการบริหาร Inventory stock การจัดการภายในครัว โดยเฉพาะการทำให้เป็นรูปแบบอาหารแช่แข็ง ก่อนที่เราจะนำมาเสนอเป็นเมนู Delivery ช่วยลดต้นทุนและบริหารครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมประหยัดเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี
  • ใช้หลักการ HACCP: คือการทำอาหารร้อนให้เย็นเร็วที่สุด เพื่อลดจำนวนแบคทีเรีย ให้อาหาร Delivery เหมือนปรุงสดใหม่ ส่งตรงถึงมือลูกค้าได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการ Packing อาหารให้ไปถึงมือลูกค้าอย่างมืออาชีพ
  • คิดถึงใจลูกค้าอยู่เสมอ: แม้จะเปลี่ยน Concept ไม่เปลี่ยนคุณภาพ คิดเสมอว่า ถ้าเราเป็นลูกค้า เราคงอยากได้บริการแบบนี้ อยากรับประทานอาหารแบบนี้ เราก็ตั้งใจและส่งมอบมันออกไป 100% ไปถึงมือลูกค้ามันก็ 100%
คลิกดู  VDO MHA TALK  แกะรอยความสำเร็จร้านดัง ฉบับร้าน MAZE แบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่


ร้าน Copper Buffet

ถ้าพูดถึงคนในวงการร้านอาหาร ต้องรู้จักCopper Buffet ถือว่าเป็น King of Buffet ต้นตำรับของบุฟเฟ่ต์ยุคใหม่ ก่อนที่จะสำเร็จขนาดนี้ แน่นอนว่าต้องผ่านอุปสรรคมาเยอะ เราไปทำความรู้จักกับ คุณเกษมสันต์ สัตยารักษ์ ผู้จัดการทั่วไป หัวเรือใหญ่ที่สามารถพา Copper Buffet ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้อย่างเข้มแข็ง และควบคุมพนักงาน 100 ชีวิตให้ปฏิบัติงานได้เป็นไปตามแผนอย่างไร


  • ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ทีดี: คุณสมศักดิ์ พินิจศักดิ์กุล เจ้าของร้าน Copper Buffet ยึดนโยบาย  ต้องดูแลลูกค้าอย่างดี วัตถุดิบชั้นเลิศ ไม่ลดคุณภาพ ทุกคำลูกค้าต้องนึกถึงเรา  ถือคติที่ว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด
  • กล้าทำ ในสิ่งที่ร้านอื่นยังไม่มี: ที่ผ่านมาเราไปทานบุฟเฟ่ต์นานาชาติหลาย ๆ ที่ ยังไม่มีใครเอาบุฟเฟ่ต์นานาชาติมาทำเป็น A la Minute หรือทำ Fine dining จานต่อจาน เรารู้ว่ามันยาก แต่เราต้องการปฏิวัติรูปแบบวงการบุฟเฟต์นานาชาติของเมืองไทย
  • กล้าเสี่ยง เริ่มต้นธุรกิจด้วยการขาดทุน: เปิดร้านใหม่ลูกค้าไม่รู้จัก 6 เดือนแรก ขาดทุนเดือนละเกือบ 1 ล้านบาท เพราะต้นทุนสูงมาก แต่ก็ยอม เพราะอยากทำบุฟเฟต์ในฝันของใครหลาย ๆ คน
  • ทำผิด ต้องรีบชี้แจง กล่าวคำขอโทษ และรับผิดชอบ:  ปลายปี 2562 เรารีโนเวทร้านเพิ่ม 80  ที่นั่ง เชิญ Blogger Youtuber ช่วยโปรโมทร้านร่วม  300 ชีวิต เราใช้เงิน 2 ล้านบาทในการลงทุน Copper ดังมาก กลายเป็น All New Copper Buffet วันต่อมาเปิดให้ลูกค้าที่เป็นสมาชิกจองที่นั่งก่อน 2,000 ราย ในวันนั้นเกิดเหตุไม่คาดฝัน การสั่งอาหารระบบไม่ออก น้ำไม่ไหล ไฟดับ เช็คบิลไม่ได้ เราขอประกาศว่า ลูกค้าที่จ่ายเงินมัดจำ 50% แล้ว ส่วนที่เหลือเราไม่คิดเงินลูกค้า กล่าวขอโทษด้วยตัวเองทุกโต๊ะ เราคิดว่าตั้งใจดีแล้วแต่มันยังไม่ดีพอ รู้สึกผิดหวังกับสิ่งทีเราทำ ร้องไห้เสียใจ พนักงานทุกคนก็ทุกคนร้องไห้โฮทั้งหมด เพราะเราซ้อมแล้วซ้อมอีก ซ้อมทุกอย่าง คิดว่ามันไม่น่าจะพลาด  
  • ดูแลพนักงานเหมือนคนในครอบครัว: ที่ร้านมีพนักงาน 100 คน เราเป็นพนักงานมาก่อน เราเรียนรู้ว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน  การคุยไม่เหมือนกัน มีการประชุมอยู่ตลอด แต่คุยเรื่องงานแค่นิดเดียว เราสอนการดำรงชีวิต การใช้ชีวิต การดูแลครอบครัว เวลาเด็กมีปัญหา ทุกคนมาหาเรา เหมือนเราเป็นพ่อ เป็นพี่  เป็นญาติเขา
  • จุดเริ่มต้นของกำไรเริ่มมาจากการให้: กำไรมาจากสิ่งที่เราทำดี คิดดีก่อน เราให้ก่อน แต่ถ้าเรามัวไปคิดกำไรเป็นที่ตั้ง พนักงานอยู่ไม่ได้ ลูกค้าได้ทานของไม่ดี พนักงาน ทีมงานมีปัญหากัน  ถ้าทุกคนคิดแต่จะเอาอย่าเดียว พี่ว่าไม่ใช่วิถีของ Copper
  • มีวิธีจัดการสต๊อกอย่างเป็นระบบ: ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ประกอบใช้เครื่อง POS ใช้ในหมวด Front คือการคิดเงินอย่างเดียว แต่ของ Copper ใช้ Back Office ด้วย การควบคุมต้นทุน มีขั้นตอนสำหรับ Back Office ตั้งแต่การรับสินค้า การบันทึกสินค้า การเก็บสินค้า ขั้นตอนการจ่ายสินค้า
ยิ่งกว่าวิธีคิด คือการนำไปใช้ให้เห็นผล คิดได้ และต้องลงมือทำให้ได้ด้วย เหมือนกับความสำเร็จของ Copper Buffet ในวันนี้
คลิกดู  VDO MHA TALK  แกะรอยความสำเร็จร้านดัง ฉบับ Copper Buffet แบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่

สามารถติดตาม MHA TALK ตอนอื่น ๆ ได้ที่ Facebook : แม็คโครโฮเรก้าอคาเดมี


สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด