กลยุทธ์รอด! ยุค New Normal ในแบบร้าน “ฝากท้อง อีสานสไตล์"

03 พ.ค. 2563
ตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณแจ๊ค-ดวงตะวัน เกษร เจ้าของร้าน ‘ฝากท้อง อีสานสไตล์’ ร้านอาหารอีสานตำรับเมืองอุบลฯ ได้ทดลองทำในหลายสิ่งหลาย แม้โจทย์จะยากแต่ก็พยายามคิดและเรียนรู้สิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดก็สามารถมีแนวทางการรับมือได้ โดยคุณแจ๊คได้ปรับแผนการใหม่ทั้งหมดสำหรับฝ่าอุปสรรคครั้งนี้ โดยนำบทเรียนจากประสบการณ์ปีแรกที่เปิดร้าน (เมื่อ 4 ปีก่อน) ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าจนไม่มีลูกค้ามานั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ซึ่งเขาก็ปรับตัวเรื่อยมา ทั้งการทำการตลาดเชิงลึก ในการหาลูกค้าจนถึงเปลี่ยนเมนูอาหารที่หลากหลาย กระชับให้เป็นเพียงอาหารอีสาน ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี 
การตัดสินใจสู้และวิธีรับมือกับ COVID-19 คำถามใหญ่ๆ ของร้านอาหารในช่วงเจอมรสุม COVID-19 คือ เปิดต่อ... หรือจะพอแค่นี้ คุณแจ๊คก็เช่นเดียวกัน จนในที่สุดคำตอบคือ ลุยต่อ! จากนั้นก็หาวิธีทางที่จะปรับร้าน โดยการลดต้นทุนรายจ่าย และครีเอทสิ่งใหม่ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ “ทีแรกก็ช่างน้ำหนักว่าจะเปิดหรือปิดดี ถ้าเปิดแต่ไม่มีคนมาจะมีเงินจ้างพนักงานไหม จะขายได้ไหม ก็ปรึกษาพี่ๆ ในวงการร้านอาหาร โดยไปปรึกษาพี่เกษม (คุณเกษมสันต์ สัตยารักษ์) General Manager ของ Copper Buffet ซึ่งก็ได้รับคำแนะมาว่า ถ้าเราเปิดยังมียอดขาย แต่ถ้าเราปิดมันจะศูนย์บาท ผมก็ต้องสู้ต่อ ซึ่งผมมีทีมงานที่ดีที่พร้อมจะสู้ไปด้วยกัน” “โชคดีที่เจ้าของที่ เขาก็เห็นใจ เดือนไหนที่ขาดทุนเขาก็บอกว่าเดี๋ยวมีค่อยจ่ายก็ได้ ช่วง COVID-19 ผมก็ทำเรื่องส่งเอกสารขอความอนุเคราะห์พี่เขาช่วยลดค่าเช่า ก็น่าจะไม่ติดขัดอะไร ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้า ผมจัดการถอดปลั๊กตู้แช่เครื่องดื่ม 4 ตู้ออก ส่วนตู้แช่ผัก ตู้ชิลล์ ตู้ฟรีซ จาก 6 ตู้ก็เหลือ 2 ตู้ ไม่ใช้เครื่องล้างจาน ลดการใช้น้ำแข็งลง เปิดเครื่องผลิตน้ำแข็งเฉพาะตอนกลางคืน เพราะค่าไฟถูกกว่าตอนกลางวัน ค่าไฟฟ้าจากปกติ 20,000-30,000 บาท ก็เหลือหมื่นต้นๆ ค่าน้ำก็ประหยัดลง 50% 
เบนโตะอีสานเมนูปรับตัวสู้ COVID-19 การปรับเปลี่ยนเมนูอาหารถือเป็นสิ่งแรกๆ ที่ลงมือทำ เพราะถือว่าจะเป็นการกำหนดตัวแปรอื่นๆ อย่างเช่น ต้นทุนวัตถุดิบ การบริหารจัดการครัวและสต็อก มีการคงไว้เฉพาะเมนูเด่นๆ ที่ขายคล่องลูกค้านิยม รวมถึงการสร้างสรรค์เมนูใหม่ให้มีความดึงดูดใจคนทานเป็นพิเศษเฉพาะช่วงนี้ 
ด้วยเมนูของร้านเรามีค่อนข้างเยอะและหลากหลาย อย่างแรกคือผมกับทีมงานมีการวางแผนกระชับเมนูให้แคบลง เมนูไหนขายไม่ออกหรือมีความเสี่ยงกับการสูญเสียง่ายก็จะตัดออก เช่นอาหารป่า หอยนางรมซึ่งเป็นของสด หอยแครงก็ไม่ได้ขายทุกวันมีเฉพาะวันที่ไปตลาด เพราะเมื่อก่อนผมสั่งวัตถุดิบผ่านซับพลายเออร์ ซึ่งราคาค่อนข้างสูง แต่ตอนนี้ผมขับรถไปซื้อวันเว้นวัน ซึ่งทำให้ต้นทุนต่ำลงมาก เหนื่อยหน่อยแต่ลูกค้าได้กินเยอะกว่า แล้วก็ราคาถูกกว่า”
“จากนั้นผมก็มีการปรับเปลี่ยนอาหารอีสานมาจัดเป็นเซ็ต โดยยกเอาเมนูที่ลูกค้ารับประทานบ่อยที่สุด และทำให้รู้สึกว่าคุ้มค่าต่อราคา ใช้วิธีคิดว่าได้กำไรน้อยก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยลูกน้องได้มีงานทำ ลูกค้าก็ได้รับประทานอาหารอย่างคุ้มค่า ซึ่งผมคิดว่าถ้า COVID-19 หายไป ถ้าลูกค้ารู้ว่าอาหารของร้านเราอร่อย ก็จะต้องกลับมาแน่นอน เลยคิดเป็นโปรเจ็กต์เบนโตะอีสาน มีเซ็ตหลักๆ อยู่ 4 เซ็ต 
  1. Set คนเดียวเฟี้ยวได้ 100 บาท ประกอบด้วย ตำปลาร้า/ตำไทย, น้ำตกหมู/ลาบหมู, ปีกไก่ทอด และข้าวเหนียว โดยจากปกติรวมราคาแยกเมนูทั้งหมด 175 บาท สำหรับ 1 คนซื้อเป็นเซ็ตจะคุ้มค่ากว่า และได้รับการตอบรับมาค่อนข้างดี
  2. Set แซ่บพอตัว 250 บาท ประกอบด้วย ตำปลาร้า/ตำไทย, ไก่ย่าง, คอหมูย่าง, หมูแดดเดียว, แจ่วปลาร้า และข้าวเหนียว 2 ห่อ จากปกติ 420 บาท
  3. Set นัวร์สุดคุ้ม 250 บาท ตำถาดปลาร้า/ตำถาดไทย, ไก่ย่าง และข้าวเหนียว 2 ห่อ จากปกติ 289 บาท โดยปกติจะเป็นตำถาดถาดเล็ก แต่เซ็ตนี้ได้เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น
  4. Set ฝากท้องยกครัว 619 บาท ตำถาดอินเตอร์ปลาร้า/ไทยที่เป็นกุ้งแม่น้ำ, ต้มยำไข่ปลาใบมะขามอ่อน, ยำหมูยออุบลไข่แดง ปลาร้า/น้ำยำ, คอหมูย่าง และข้าวเหนียว 4 ห่อ จาก 850 บาท ซึ่งคุ้มมากๆ สำหรับทาน 3-4 ท่าน”
นอกจากนั้นยังมีโปรโมชั่นข้าวกล่อง 3 กล่อง 100 บาท รวมถึงบริการ จัดส่งให้ลูกค้าฟรี ถ้าสั่งครบ 100 บาท ส่งฟรี 1 กม. สั่งครบ 500 บาท ส่งฟรี 5 กม. สั่งครบ 1,000 บาท ส่งฟรี 10 กม. และมีโปรโมชั่นพิเศษแถมปลาช่อนนึ่ง แจ่วปลาร้า ในราคา 350 ฟรี และหน้าร้านยังตั้งโต๊ะขายข้าวแกงถุงละ 40-60 บาท “มีลูกค้าส่วนหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ละแวกนี้ มีแม่ค้าพ่อค้า คนขับแท็กซี่ด้วย ผมเลยปรับเมนูข้าวแกงถุงละ 40-60 บาท ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ข้าวแกงก็ช่วยเราได้อีกระดับหนึ่ง ทำวันละ 7-10 เมนู ก็ได้รับการตอบรับดี เพราะราคาจับต้องได้ รสชาติอร่อยด้วย มีลูกค้าประจำเข้ามาเยอะเหมือนกัน และบอกว่าถ้าหมด COVID-19 ขอให้ทำขายต่อนะ”
เพิ่มบริการเดลิเวอรีแบบจัดส่งเอง
แต่ก่อนหน้านี้ยอดขายของ ฝากท้อง อีสานสไตล์ มาจากช่องทางหน้าร้านเป็นหลัก มากถึง 90-95% เมื่อต้องปรับตัว คุณแจ๊คได้นำประสบการณ์ที่เคยเป็นหนุ่มส่งพิซซ่าที่ชำชาญเส้นทางในกรุงเทพฯ กลับมาใช้อีกครั้ง โดยได้เพิ่มบริการเดลิเวอรีแบบจัดส่งเอง “ก่อนหน้าผมก็มีบริการเดลิเวอรีผ่านทางแอปพลิเคชันต่างๆ แต่ไม่ได้เน้นมากนัก เพราะต้องเสียค่า GP ซึ่งคิดว่าไม่คุ้มค่า ตอนนี้ผมเลยเพิ่มบริการเดลิเวอรีเอง ส่วนมากลูกค้าก็จะสั่งมาทาง Line@ หรือแฟนเพจของร้าน เราจะมีมอเตอร์ไซค์อยู่สองคัน ลงทุนซื้อกระเป๋าติดหลังและมีสติกเกอร์ติดของร้านไว้เพื่อสร้างแบรนด์ไปในตัวด้วย ผมค่อนข้างรู้เส้นทางในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มี Google Map ลูกค้าแค่ส่งโลเคชั่นมาก็สามารถไปได้ง่ายมาก แต่มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสียนะครับ คือถ้าลูกค้าอยู่ไกล การสั่งผ่านแอปพลิเคชั่นจะถูกกว่า แต่ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ก็บวกความคุ้มค่ากันตามที่ลูกค้าถนัดได้เลย

แพ็กเก็จจิ้งเพื่อเดลิเวอรีและความปลอดภัย
พื้นฐานที่คุณแจ๊คคำนึงถึงในการปรับและการเลือกใช้แพ็กเก็จจิงใส่อาหาร คือ มีความเหมาะสมกับอาหาร ความสะดวกและปลอดภัยในการขนส่ง และความสวยงาม “การคิดแพ็กเกจจิงต้องรู้ก่อนว่าตอนนี้มีกล่องประเภทไหนที่หาได้บ้าง ต่อมาผมจะมองเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก ส่วนแฟนจะเป็นคนที่ทำอะไรขอให้ดูสวยงาม ลูกค้าถ่ายรูปก็ต้องสวยด้วย “พอหาได้ก็เอาเลือกใช้ในแต่ละหมวดทั้งลาบ ยำ หรือต้ม อย่างประเภทต้ม ส้มตำ เป็นกระปุกที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ ชุดแซ่บพอตัวก็เป็นกล่องพิซซ่า ผมรู้สึกว่ามันลงตัวและสวยงามดี เปิดมามีส้มตำ คอหมูย่าง เนื้อแดดเดียว ไก่ย่าง ข้าวเหนียว น้ำพริกแจ่วปลาร้าอยู่ข้างใน “นอกจากความสวยงามแล้ว ก็จะดูว่าขนส่งสะดวกหรือเปล่าครั้งแรกๆ เราก็คิดว่าแพ็กดีแล้ว ขับรถออกไปเจอลูกคลื่นก็ทำให้แกงรั่ว เพราะเลือกแพ็กเกจจิงที่ใหญ่เกินไป เวลาจัดวางในบล็อกมันไม่ลงตัว เราก็ปรับเปลี่ยนขนาดแพ็กเก็จจิงให้เหมาะสม แล้วซื้ออุปกรณ์เสริมมาบล็อกกล่องอาหาร เวลาขนส่งก็สะดวกสบาย ไม่มีปัญหาอีกเลย ฉะนั้นถึงแม้ว่าเราคิดว่าดีที่สุด แต่ถ้าเจอปัญหาก็ต้องรีบปรับไปเรื่อยๆ ข้อดีของโควิดคือมันให้เราคิดและลงมือทำเลย อันไหนดีเราต้องทำเดี๋ยวนี้ จะไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ต้องรีบทำรีบแก้”
ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในยุค COVID-19
เรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นสิ่งที่คุณแจ๊คยึดถือเป็นลำดับต้นๆ เพราะถือว่าคนทานนั้นฝากชีวิตไว้กับ ฝากท้อง อีสานสไตล์ “เรื่องความปลอดภัยผมแบ่งออกเป็น 2 พาร์ท พาร์ทแรกคือในครัว พนักงานต้องแต่งกายให้สะอาดสะอ้าน มีการใส่ถุงมือ ผ้าปิดปาก ใส่หมวก มีการทำความสะอาดพื้นที่ ภาชนะทุกอย่างทำความสะอาดอย่างดี วางของสูงจากพื้น 60 ซม. ตามข้อบังคับของเขต ผมว่าร้านของผมความสะอาดไม่น่าจะแพ้ใครในร้านอาหารอีสาน ซึ่งต้องชื่นชมเชฟที่เป็นคนรักความสะอาด จะเช็คละเอียดมากๆ” “ส่วนในพาร์ทบริการลูกค้า ถ้าลูกค้ามาซื้อที่หน้าร้าน จะมีเครื่องวัดอุณหภูมิ แอลกอฮอล์ และจัดระยะห่างในการรับ 1-2 เมตร ส่วนพนักงานจัดส่งสินค้า จะใส่ถุงมือ มีแอลกอฮอล์ ผ้าเช็ดทำความสะอาดกล่องขนส่ง” “ผมคิดว่าขั้นพื้นฐานในการการดูแลความปลอดภัยรับมือโควิด เราน่าจะทำได้ 100% โดยได้ดูตัวอย่างจากร้าน Copper Buffet ร้านกล่องแสนศุข ซึ่งทำไว้ได้ดีมาก เราก็ปรึกษากับพี่ๆ และได้รับคำแนะนำว่า ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าก่อน ถ้าลูกค้าเชื่อมั่น จะกล้ารับประทานอาหารเราเอง”
ปรับการทำงานของพนักงาน
ก่อนหน้านี้คุณแจ๊คต้องดูแลทีมงานในฝากท้อง อีสานสไตล์นับ 30 ชีวิต โดยรวมแล้วค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนของค่าจ้างในแต่ละเดือนเป็นตัวเลข 6 หลัก พลันที่วิกฤติ COVID-19 เข้ามา จึงจำเป็นจะต้องลดพนักงานลง และต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานกันใหม่
เรื่องพนักงานผมจะคัดคนที่ทำงานได้ในสถานการณ์นี้ คนที่ทำงานไม่ครบ 3 เดือนจะให้หยุดก่อน ส่วนน้องต่างด้าวเขากลับบ้านช่วงสงกรานต์พอดี เราก็ไม่หาคนมาทดแทน แต่ตอนนี้ก็ต้องช่วยเหลือน้องที่ไม่ได้กลับบ้าน เรามีที่พักให้ มีอาหาร 3 มื้อ จ่ายให้หมดทุกอย่าง “ตอนนี้มีทีมงานอยู่ 6 คน เป็นเชฟ 1 คน คนในครัว 3 คน และคนส่งเดลิเวอรี 2 คน เมื่อก่อนร้านจะมีครัวลาบ ครัวยำ ครัวส้มตำ ครัวผัด และครัวทอด โดยเชฟเป็นคนดูแลทั้งหมด เวลาผัดกะเพราหมูสับไข่ดาวกว่าจะได้อาหารมาจานหนึ่งมีคนทำงาน 4 คน ทุกวันนี้เชฟที่เคยรอผัดอย่างเดียว ก็ต้องเด็ดกะเพราเอง ขึ้นของเอง จนใส่กล่อง ก็ต้องช่วยกันเต็มที่ไปก่อน ตอนนี้ถือว่าทีมเวิร์กสำคัญมากๆ แล้วหลักเลิกงาน ผมจะประชุมกับทีมงานแทบทุกวัน ว่าวันนี้เจออุปสรรคอะไรบ้าง มาระดมความคิดกัน”
กลยุทธ์การตลาดในสถานการณ์ไวรัสระบาด
ปัจจุบันการทำการตลาดคงต้องเน้นไปที่ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งหากใครได้ติดตามแฟนเพจ ฝากท้อง อีสานสไตล์ จะเห็นถึงการสร้างจุดขายแลการนำเสนอที่น่าดึงดูดใจเป็นอย่างมาก เป็นต้นว่า  #อยู่บ้านต้องได้กินแนวแซ่บๆ #FaaktongAtHome หรือชื่อเมนูเช็ตเบนโตะอีสาน “เวลาเขียนคอนเทนต์ เราก็ดูว่าลูกค้ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มของเรา ปกติผมกับแฟนเป็นคนคิดกันสองคน ด้วยสไตล์เพจของเราเป็นร้านอาหารอีสาน บางครั้งแฟนจะคิดคำเป็นภาษากลางมา ผมก็จะแปลเป็นภาษาอีสานให้เข้ากับสไตล์ร้าน บางทีก็ มีตลก เฮฮา ผมก็เป็นคนที่สนุกสนาน อยากเป็นกันเองกับลูกค้า ไม่อยากให้เครียดเกินไป เพราะด้วยเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคโควิด ก็เครียดพอแล้ว ก็อยากจะสื่อสารง่ายๆ เป็นภาษาอีสาน” นอกจากการโปรโมททางหน้าแฟนเพจที่เป็นแบบเฉพาะตัวแล้ว การมาของ COVID-19 ก็ทำให้คุณแจ๊คได้เรียนรู้กลยุทธ์การตลาดที่ย้อนกลับไปสู่พื้นฐาน แต่ได้ผลตอบรับที่ดีมาก “พอเกิด COVID-19 ผมก็ได้ปรึกษากับเรื่องการตลาดกับพี่ๆ ในแวดวงร้านอาหารด้วยกัน ซึ่งช่วยแนะนำว่าให้ผมมาดูกลุ่มลูกค้าระยะใกล้ๆ ร้าน คือเมื่อก่อนไม่เคยดูเลยว่าลูกค้าแถวนี้จะรู้จักร้านเราไหม เวลายิงโฆษณาก็เลือกระยะจากร้าน 10 กม. ตอนนี้พอมาดู ก็พบว่าลูกค้าแถวนี้ไม่ค่อยสั่งเลย” “ผมเลยปรับกลยุทธ์ ด้วยการแจกใบปลิว ใช้วิธีแจกละแวกที่สามารถส่งอาหารได้รวดเร็วที่สุด ห่างจากร้านประมาณ 2-3 กม. โดยเอาห้าแยกลาดพร้าวเป็นหลัก ไปทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว สุทธิสาร สะพานควาย และรัชโยธิน ไปวางโปรชัวร์ตามบ้าน ในตึก โดยตอนแจกผมก็จะสวมถุงมือ มีการฉีดแอลกอฮอล์ให้เขาเห็นว่าเราปลอดภัย หรือเวลาเจอลูกค้าก็ยืนเว้นสัก 1 เมตร “ข้อดีของการไปแจกใบปลิว บางทีเราได้คุยกับลูกค้าโดยตรง ผมได้ลูกค้าใหม่ที่เหมือนกับผูกปิ่นโต สั่งกับเรา 2-3 วันครั้ง หรือบางวันก็สามมื้อ ผลตอบรับก็ค่อนข้างดีมาก รู้สึกว่าเป็นการตลาดที่ใช้ได้จริง แม้ในยุคที่คนเล่น Instagram Facebook TikTok Youtube ผมก็เลยใช้ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ คิดว่าถ้าโควิดหาย น่าจะได้ลูกค้าละแวกร้านเยอะขึ้นเหมือนกัน”
ปรับตัวจนอยู่รอด พร้อมต่อยอดสู่โอกาสใหม่
ฝากท้อง อีสานสไตล์สามารถหยัดยืนได้ อันเป็นผลจากการกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองตามสถานการณ์
“ผมรู้สึกว่าคิดไม่ผิดที่ตัดสินใจเปิดร้านต่อ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ตอนนั้นกำลังตัดสินใจว่าจะเปิดหรือปิด พอได้กำลังใจจากพี่ๆ ในแวดวงร้านอาหาร และทีมงานในร้าน เลยตัดสินใจเปิดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้ามองตัวเลขก็ยังไม่พอใจ แต่กราฟมันขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่ได้กลับมาคือลูกค้ากลุ่มใหม่ แล้วเป็นลูกค้าประจำคือมีการสั่งซ้ำเยอะมากๆ คือสิ่งที่ได้จากการลงมือทำจริง “ถึงสถานการณ์ COVID-19 หายไป ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดสตาร์ทที่จะเอาประสบการณ์ในการทำเดลิเวอรีมาต่อยอดต่อไปแน่นอน เพราะคิดว่าจะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ยังติดที่จะรับประทานอาหารที่บ้าน ยังไม่กล้าออกมาข้างนอก เลยจะต้องปรับเมนูให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าให้มากที่สุด อาจจะมีการรีเสิร์ช สอบถามลูกค้าเอง เพราะตอนนี้แฟนเพจของร้านมีคนติดตาม 40,000 กว่าคน แล้วก็มี Line@ ติดตามอีกประมาณ 1,000 คน ถ้าผมมีการบรอดแคสต์คุยกับลูกค้า 1,000 คนใน Line@ และสามารถตอบโจทย์ในเมนูอาหารรายละ 100 บาท ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 100,000 บาท”
New Normal ของร้านอาหารในยุคโควิด
ภายหลังจากที่มีมาตรการผ่อนปรนให้ร้านอาหารบางประเภทเปิดบริการให้นั่งรับประทานภายในร้านได้ เป็นต้นว่า ร้านอาหารริมทาง ร้านอาหารโอเพ่นแอร์ ใต้เงื่อนไขข้อกำหนด อย่างการเว้นระยะห่างของโต๊ะ 1.5 เมตร มีการวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สำหรับร้านอาหารบุฟเฟต์ ห้ามทำเอง ห้ามหยิบเอง ต้องสั่งให้พนักงานบริการเสิร์ฟ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้ผู้ประการร้านอาหารใจชื้นขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง โดยสิ่งที่จะต้องทำนับต่อจากนี้ไปถือเป็น New Normal สำหรับ ฝากท้อง อีสานสไตล์ ได้เตรียมความพร้อมและมีการวางแผนที่จะเปิดร้านเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว “ผมคิดเสมอว่าโอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ ซึ่งผมเองก็มีความพร้อมมาก มีการคุยกับทีมงานคือการจัดโต๊ะห่างกันประมาณ 1.5 เมตร เรื่องการคัดกรอง การวัดอุณหภูมิ มีเจลแอลกอฮอล์ การจัดเตรียมพื้นที่ให้ลูกค้านั่งรอ พนักงานสวมถุงมือ หน้ากาก เคลียร์ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนโต๊ะออก เราทำอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว ไม่วางอุปกรณ์ เครื่องปรุง โบชัวร์ ไว้โต๊ะว่างๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรค” “เมื่อมีมาตรการออกมาเราก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนออเดอร์เป็นเซ็ต เป็นคอร์ส เตรียมเครื่องฆ่าเชื้อสำหรับช้อนส้อมเหมือนฟูดคอร์ต ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ บิ๊กคลีนนิงร้านบ่อยๆ การจ่ายเงินก็อาจจะขอความร่วมมือเป็นการโอนเงิน โดยที่ไม่รับเงินสด เพื่อลดการสัมผัสเงินและลูกค้าในเบื้องต้น ให้ลูกค้ามั่นใจเรา” “ไม่ว่าจะเป็น 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน ถ้าทางภาครัฐให้ปฏิบัติอย่างไร ผมก็ต้องปฏิบัติตามให้เต็มกำลังที่ทำได้ เบื้องต้นประกาศข้อกำหนดออกมานั้น เราทำกันอยู่แล้ว ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร เราสามารถที่จะตอบโจทย์และทำได้ดี แต่ถ้ามาตรการอื่นเพิ่มขึ้นมา ก็ต้องมาดูว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ตอบโจทย์กับภาครัฐบาลอย่างไร ต้องดูต่อไป” ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : Facebook.com/Faak.tong  
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
วิกฤตร้านอาหารDeliveryบรรจุภัณฑ์การตลาดออนไลน์New Normalบทสัมภาษณ์ และรีวิว

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด