อยากขายอาหารเป็นอาชีพเสริมในช่วงนี้ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

12 ก.ค. 2564
ใครที่กำลังวางแผนจะขายอาหารเป็นอาชีพเสริมในช่วงนี้ ไหน ๆ จะลงทุนทั้งที มาเติมความรู้กันสักหน่อยดีกว่า เพราะการขายอาหารใช่ว่าจะอร่อยอย่างเดียวแล้วจะรุ่งได้ ไม่ว่าจะทำเสริม หรือทำจริงจัง ถ้าต้องการกำไรก็ต้องมีความรู้ ใครที่เห็นว่าง่าย ๆ แค่มีเงินลงทุนก็ทำได้แล้ว ระวังจะได้เป็นหนี้กลับมาแทนกำไร แต่ถ้าเรามีความรู้สักนิด ดีไม่ดีจากที่คิดทำเป็นอาชีพเสริมอาจกลายเป็นอาชีพหลักไปเลยก็ได้

ขายอะไรดี ?
เป็นประเด็นแรกที่ต้องคิดให้ออกก่อนว่า จะขายอะไรดี หลายคนเริ่มต้นจากความถนัด หรือความชอบส่วนตัว มีสูตรประจำตระกูล หรือจะค้นหาสูตรจากอินเตอร์เน็ตเอามาพัฒนาต่อ จะแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ รสชาติต้องได้ และคุณภาพต้องถึง ใส่ใจกับวัตถุดิบ แล้วลูกค้าจะประทับใจ ซื้อซ้ำบ่อย
ถ้าใครยังคิดไม่ออกว่าจะขายอะไรดี เรามีสูตรและวิธีการทำกับ 7 เมนูอาชีพพารวย ลงทุนน้อย กำไรงาม จะมีเมนูอะไรบ้างนั้น คลิกดู VDO ทั้งหมดได้ที่นี่

ขายให้ใคร
ข้อนี้ก็สำคัญ เรารู้หรือยังว่าลูกค้าเป้าหมายคือใคร ปัญหาของหลาย ๆ คนที่ขายไม่ออก ทั้งที่มั่นใจว่า
สูตร รสชาติ วัตถุดิบ เพอร์เฟคหมดก็เพราะลืมวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายว่า มันใช่หรือไม่ กับประเภทอาหารที่เราขาย หรือ ระดับราคาที่เราตั้ง ดังนั้น ไม่ว่าจะขายจริงจัง หรือ ขายเป็นอาชีพเสริม ก็ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร ข้อมูลตั้งต้นที่เราควรรู้เช่น  เพศ, อายุ, อาชีพ  เป็นต้น เพื่อจะได้นำมาทำการบ้านต่อว่า จะขายแบบไหน ระดับราคาเท่าไหร่

ขายที่ไหน
เกี่ยวเนื่องจากขายให้ใครก็คือ ขายที่ไหน หรือ ทำเลนั่นเอง เป็นอีกข้อสำคัญที่ต้องตั้งใจเลือกดี ๆ มีไม่น้อยเห็นทำเลคนเยอะ ๆ นึกว่าดีแน่ ๆ แต่เอาเข้าจริงขายไม่ออก ก็เพราะทำเลนั้นกลุ่มคนที่อยู่ หรือ ผ่านไปมานั้นไม่เหมาะกับประเภทอาหาร หรือระดับราคาของเรา ดังนั้นถ้าจะขายแบบมีหน้าร้านต้องวิเคราะห์ทำเลให้ขาดว่าเหมาะกับอาหาร และระดับราคาของเราหรือไม่ ให้เวลากับการลงไปทำการบ้านกับทำเลจริง ๆ ว่ามีโอกาสขายได้หรือคุ้มค่าเช่าหรือไม่ กำลังการซื้อเป็นอย่างไร คู่แข่งทางตรง ทางอ้อมมีมากแค่ไหน การจราจร ที่จอดรถสะดวกหรือไม่
แต่สำหรับคนที่ไม่ได้คิดจะขายแบบมีหน้าร้าน ยุคนี้การขายอาหารก็เปิดกว้างมาก สามารถทำแบบ Ghost Kitchen คือไม่ต้องมีหน้าร้าน ใช้ครัวที่บ้านปรุงอาหารส่งขายผ่านเดลิเวอรี่ก็เป็นรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยม หลาย ๆ คนก็พลิกชีวิตจากขายเล่น ๆ ขายเป็นอาชีพเสริมกลายเป็นธุรกิจจริงจังทำรายได้ไม่ใช่เล่นเลย เช่น ร้านระดับตำนาน Ghost Kitchen เจ้าแรก ๆ ของไทย “เจคิว ปูม้านึ่ง” ที่ทำยอดขายช่วงพีค ๆ ระดับเลขหลัก 100 ล้านบาทอัพทีเดียว

ถ้าใครจะเริ่มต้นแบบนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ สมัครเข้าเป็นสมาชิกของแอพเดลิเวอรี่เจ้าต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางขายหลัก ส่วนจะเลือกค่ายไหนลองเปรียบเทียบข้อกำหนดเงื่อนไขของแต่ละค่ายก่อนตัดสินใจ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแอพเดลิเวอรี่เพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก หรือถ้าใครอยากรู้ว่านำร้านอาหารเข้า Delivery คุ้มค่า GP หรือไม่?  คลิกอ่านได้เลย



อีกช่องทางขายสำคัญที่ห้ามมองข้ามก็คือ ไลน์กรุ๊ปหมู่บ้าน และเฟซบุ๊ก เพราะการทำแบบ Ghost Kitchen สิ่งที่ต้องมาคู่กันคือ การตลาดออนไลน์ เพราะไม่มีหน้าร้านให้คนพบเห็น หน้าร้านออนไลน์จึงสำคัญมาก ๆ ถ้าใครยังอ่อนด้านการตลาดออนไลน์ เรียนรู้ได้ใน คอร์สเรียนออนไลน์ฟรี! “โปรโมทร้านอาหารใน Online ให้ยอดขายพุ่งขึ้น 10 เท่า”

[ข้อคิด] ในการทำธุรกิจร้านอาหาร หรือ ร้านเครื่องดื่ม จุดเริ่มต้นมักมาจากหลักคิด 2 ข้อ

  • มีสูตรอาหาร หรือ สูตรเครื่องดื่มที่มั่นใจว่าดีพอ มีจุดขาย จากนั้นมองหาทำเลที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตรงกับอาหาร หรือ เครื่องดื่มที่เราจะทำขาย
  • หากไม่มีสูตรอาหาร ไม่มีสูตรเครื่องดื่ม แต่มีทำเลน่าสนใจ ก็หาอาหาร หรือ เครื่องดื่มตรงกลุ่มเป้าหมายในทำเลนั้นมาขาย ร้านอาหารส่วนใหญ่เกิดจาก 2 หลักคิดนี้ ฉะนั้นสำรวจตัวเองดูก่อนว่าเรามีความพร้อมข้อไหน ขาดข้อไหน เพื่อหามาเติมให้เต็มก็จะเพิ่มโอกาสทำยอดขายได้ปัง ๆ

จัดสรรเงินลงทุน
เรื่องนี้ก็อยากฝากให้ใส่ใจ ไม่ว่าจะทำจริงจัง หรือ ทำเป็นอาชีพเสริม เงินลงทุนก็คือเงินจริง ๆ ที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่แบงค์กาโม่ บางคนอาจคิดว่าก็แค่ทำเสริม ๆ ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนว่าจะต้องกำไร ไม่เข้าเนื้อก็พอใจแล้ว ระวังคิดแบบนี้จะได้เป็นหนี้กลับคืนไป และส่วนใหญ่ของคนทำร้านอาหารมือใหม่มักจะพลาดในเรื่องการจัดสรรงบลงทุน แบ่งสัดส่วนไม่ลงตัวทำให้งบบานปลาย แนะนำให้แบ่งงบประมาณลงทุนออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1) เงินสำหรับการลงทุนจนร้านเปิดกิจการได้ 60 – 70 %
2) เงินทุนหมุนเวียนภายในร้านระยะประมาณ 4 – 6 เดือน 20 – 30%
3) งบการตลาด 10 – 20 %

ย้ำว่า ต่อให้เป็นร้านแผงลอยริมทาง หรือ Ghost Kitchen ก็ควรจัดสรรงบลงทุนให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้น งบจะบานไปเรื่อย ๆ เราจะเจอของที่อยากได้ ของที่มันต้องมีซื้อมาสะสมจนเยอะแยะไปหมด แต่แทบไม่ได้ใช้งาน ถ้าจำกัดงบไว้แต่แรก การซื้อใด ๆ จะเป็นซื้อตามงบ คิดเยอะขึ้น ต้องตัดใจให้อยู่ในงบตามสัดส่วน

รู้เรื่องโครงสร้างต้นทุน
อีกเรื่องสำคัญและทำให้หลายคนเจ็บช้ำมานักต่อนักก็คือ เรื่องของโครงสร้างต้นทุนการทำร้านอาหาร มีคนจำนวนมากทีเดียวคิดว่า การขายอาหาร หรือ การทำร้านอาหารเป็นอะไรที่ไม่ซับซ้อน ก็แค่ซื้อวัตถุดิบมาเท่าไหร่ ใช้ไปเท่าไหร่เป็นทุน แล้วก็บวกกำไรเข้าไปก็จบ นี่แหละที่ทำให้สลบเจ๊งมานับไม่ถ้วน เพราะการทำอาหารขายมีโครงสร้างต้นทุนที่ลึกกว่านั้น และจำเป็นมากที่คนจะทำอาชีพนี้ต้องรู้ ต่อให้ทำแบบเสริมก็ตาม มาดูกันว่าโครงสร้างต้นทุนของการทำอาหารขายมีอะไรบ้าง

  1. Food Cost ต้นทุนอาหาร โดยทั่วไปควบคุมให้อยู่ที่ 35% ของยอดขาย (แต่สำหรับ Street Food หรือ Buffet อาจสูงถึง 50%)
  2. Labor Cost ค่าแรงพนักงาน ควบคุมให้ต่ำกว่า 20% ของยอดขาย ***สำคัญมาก ๆ ใน Labor อย่าลืมใส่ค่าแรงตนเองลงไปด้วย!!!***
  3. Other Control Cost ต้นทุนอื่น ๆ ที่ควบคุมได้ ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเดินทางซื้อของ และอื่น ๆ ที่ควบคุมได้ ควบคุมให้ต่ำกว่า 10% ของยอดขาย
  4. Rent ค่าเช่าพื้นที่ (ถ้ามี) ควรต่ำกว่า 10% ของยอดขาย เนื่องด้วยค่าเช่าที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ไม่แปรผันตามยอดขายสิ่งที่สามารถทำให้ค่าเช่าพื้นที่ต่ำกว่า 10% ได้ คือการดันยอดขายให้สูง ๆ (หลังจากหักค่าใช้จ่าย 4 ข้อนี้ควรเหลือกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายข้อต่อไปที่ 25-30%)
  5. Other Uncontrol Cost ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ ค่าภาษี ค่าจ้างทำบัญชี ค่าบริหาร
  6. Depreciation & Amortization ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย หรือเข้าใจง่าย ๆ ตีเป็นค่าลงทุนกับการก่อสร้างร้าน สำหรับค่าใช้จ่ายข้อ 5 และข้อ 6 ควรต่ำกว่า 15% ของยอดขาย
ฝากเป็นข้อคิดปิดท้ายว่า การขายอาหารต่อให้เป็นการขายเพื่อาชีพเสริม ก็ต้องมีเป้าหมายว่า แต่ละวันจะทำยอดขายที่เท่าไหร่ การลงทุนแต่ละครั้งต้องได้กำไรกลับมากี่เปอร์เซ็นต์ ต้องใส่ใจกับสิ่งที่ทำ และมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ที่สำคัญให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้ อย่าคิดว่าทำเล่น ๆ ไม่ได้จริงจัง เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีอนาคต หากทำด้วยการวางแผนอย่างถูกต้องแต่แรก สามารถเป็นธุรกิจหลักได้ไม่ยาก

ขอบคุณรูปภาพจาก : เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery

สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
เปิดร้านอาหารธุรกิจร้านอาหาร

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด